การชวนผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในครอบครัววางแผนดูแลล่วงหน้า

พญ. วาลิกา รัตนจันทร์
แพทย์ชำนาญการ
หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลน่าน

การชวนผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยในครอบครัววางแผนดูแลล่วงหน้าอาจจะเป็นเรื่องที่ไกลตัว โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า สุดท้ายแล้วชีวิตของเราทุกคนก็ต้องเดินไปถึงจุดนั้น จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมาหลายปี พบว่าหากเราได้มีโอกาสขบคิด ไตร่ตรองและวางแผนถึงวันสุดท้ายที่จะมาถึง รวมทั้งได้สื่อสารถึงสิ่งที่ต้องการให้กับคนที่สำคัญเอาไว้ก่อน สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความวิตกกังวลของตัวเราเอง และช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำตามเจตนาที่วางแผนไว้ได้

เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะท้าย หลายครั้งที่คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดไม่กล้าที่จะปฏิเสธหรือตัดสินใจยุติการรักษาแทน แม้ว่าการรักษานั้นอาจจะไม่มีประโยชน์แล้ว ดังนั้นถ้าเจ้าของร่างกายเป็นคนตัดสินเอง มีเวลาคิดตรึกตรองก่อนหน้าที่จะเจ็บป่วยจนไม่สามารถสื่อสารเองได้ และบันทึกสิ่งที่ตนเองต้องการให้ญาติและแพทย์ทราบ ก็จะช่วยให้ผู้ที่อยู่ข้างหลัง หรือผู้ที่จะต้องตัดสินใจแทนไม่รู้สึกลำบากใจ และได้ทำตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยจริงๆ เสมือนเป็นการมอบของขวัญชิ้นสุดท้ายให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย และคนส่วนใหญ่ก็อาจจะมีความกังวลตั้งแต่การที่จะเริ่มพูดเรื่องนี้ 

อุปสรรคในการเริ่มต้นสื่อสารเรื่องการวางแผนดูแลล่วงหน้า

  1. ครอบครัวมักจะคิดว่าการพูดคุยเรื่องการวางแผนดูแลล่วงหน้าเป็นลางร้าย ทำให้ผู้ป่วยเสียกำลังใจ หรือสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้สูงอายุโดยไม่จำเป็น
  2. ครอบครัวคิดว่ายังเป็นเวลาที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากยังสุขภาพแข็งแรงอยู่ ยังไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องนี้ และมองว่าการพูดถึงเรื่องนี้เป็นลางร้าย 

ในความเป็นจริงแล้ว การพูดเรื่องระยะท้ายของชีวิตในช่วงที่ป่วย หรืออยู่ในระยะท้ายแล้วจะยิ่งลำบาก อาการของผู้ป่วยอาจจะแย่ลง การวางแผนดูแลล่วงหน้ายิ่งพูดในเวลาที่สุขภาพร่างกายและจิตใจยังแข็งแรงดี สติสัมปชัญญะแจ่มใส ยิ่งคุยกันได้ง่าย เป็นเวลาที่ดีมากกว่าตอนที่มีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นแล้ว

  1. ความไม่เข้าใจในแต่ละทางเลือกในกรณีที่เป็นข้อมูลทางด้านการแพทย์ 

ทางเลือกเกี่ยวกับการรักษาในระยะท้าย หรือการรักษาเพื่อยื้อชีวิตอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อย ข้อมูลเหล่านี้ทีมประคับประคองซึ่งมีอยู่ในทุกๆ โรงพยาบาล เป็นทีมที่ผ่านการอบรม มีทักษะในการให้คำแนะนำ สามารถให้คำปรึกษากับทุกครอบครัวได้ ทุกท่านสามารถไปติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ได้

  1. เมื่อตัดสินใจดูแลสุขภาพตนเองแล้ว กลัวว่าจะไม่ได้รับการดูแลที่ดีที่สุดหรือเป็นไปตามมาตรฐาน

เมื่อเราได้ศึกษาข้อมูลมาดีแล้ว และเขียนสิ่งที่ตัดสินใจลงไปในสมุดเบาใจ หรือหนังสือแสดงเจตนา ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องยึดถือสิ่งนั้นไปตลอด ถ้ายังมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ ก็สามารถที่จะทบทวน เปลี่ยนแปลง หรือยึดตามสิ่งที่เคยเขียนไว้ก็ได้ ทั้งนี้คุณหมอ คุณพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ จะถามความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก จึงไม่ต้องกังวลว่าจะถูกทิ้งขว้าง ไม่ได้รับการดูแลตามมาตรฐาน การละเว้นหรือยุติการรักษาบางอย่างนั้นจะเป็นไปเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะท้าย และทีมรักษาพยาบาลคิดว่าการรักษานั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยแล้วจริง ๆ เท่านั้น 

เครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนดูแลล่วงหน้า

อาจจะเป็นเรื่องยากในการเริ่มต้นพูดคุยเรื่องของการดูแลระยะท้ายกับคนในครอบครัว เพื่อจะให้ง่ายขึ้นทางกลุ่ม Peaceful Death ได้ออกแบบเครื่องมือหลากหลาย เช่น 

  • สมุดเบาใจ ที่ออกแบบมาให้ญาติ หรือคนในครอบครัวสามารถชวนผู้ป่วยคุยถึงความต้องการในระยะท้ายไปทีละประเด็น ซึ่งทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาในครอบครัว และการชวนผู้สูงอายุมาพูดคุยกันในเรื่องนี้ทำได้ง่ายขึ้น หรืออาจจะชวนทุกคนในครอบครัวเขียนสมุดเบาใจไปพร้อมๆ กันก็ได้
  • การ์ดแชร์กัน หากสมุดเบาใจใช้ยากเกินไปสำหรับผู้สูงอายุบางท่าน ก็สามารถใช้การ์ดแชร์กัน ซึ่งเป็นการ์ดรูปภาพในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวางแผนสำหรับระยะท้ายของชีวิต ซึ่งถอดประเด็นมาจากสมุดเบาใจ สามารถใช้การ์ดแชร์กันมาชวนกันคุย หรือใช้ประกอบในการเขียนสมุดเบาใจก็ได้ 
  • เกมไพ่ไขชีวิต ใช้เกมไพ่ไขชีวิตเป็นกิจกรรมในครอบครัว เพื่อชวนกันคุยเกี่ยวกับเรื่องการจากไป และการดูแลระยะท้ายก็ได้

นอกเหนือจากเครื่องมือเหล่านี้ เราอาจใช้โอกาสที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยหรือการจากไป เช่น เมื่อไปเยี่ยมผู้ป่วยหรือไปงานศพด้วยกัน กลับมาถึงบ้านก็อาจจะชวนคนในครอบครัวพูดคุยเชื่อมโยง ถามถึงสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการหากเจ็บป่วยอยู่ในระยะท้าย หรือการจัดการงานศพของตนเอง

สำหรับเรื่องการวางแผนสุขภาพในระยะท้าย ไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ป่วยระยะท้าย หรือผู้สูงอายุเท่านั้น ทุกท่านที่เห็นถึงประโยชน์ของเรื่องนี้ สามารถที่จะไปติดต่อเพื่อขอคำแนะนำ หรือขอสมุดเบาใจจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน แผนกที่ดูแลเรื่องนี้อาจชื่อว่า “คลินิกเบาใจ” หรือ “คลินิกประคับประคอง” ซึ่งมีทีมบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครที่ยินดีให้คำปรึกษา

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน อย่ากังวลที่จะเชิญชวนผู้สูงอายุในครอบครัวพูดคุยเกี่ยวกับการวางแผนระยะท้าย จริงๆ แล้วผู้สูงอายุหลายท่านอาจจะมีการเตรียมพร้อม หรือคิดเรื่องนี้ไว้แล้ว แต่ก็ไม่กล้าหรือไม่มีจังหวะที่จะบอกลูกหลาน ดังนั้นการที่เราได้เริ่มต้นพูดคุยเรื่องนี้ หรือได้วางแผนร่วมกัน เมื่อมีวิกฤติเกิดขึ้น หรือเมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องสุขภาพในระยะท้าย จะทำให้เราไม่ต้องวิตกกังวล และสามารถตัดสินใจได้ตรงตามที่ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยในครอบครัวแสดงเจตนาไว้จริงๆ

Message us