การวางแผนการดูแลล่วงหน้าคืออะไร

นายแพทย์นิยม บุญทัน
นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลปราสาท จังหวัดสุรินทร์
แอดมินเพจ หมอคนสุดท้าย

ก่อนที่จะรู้จักกับการวางแผนดูแลล่วงหน้า (Advance Care Planning) มีคำถามสำคัญ 3 คำถามที่ชวนให้เราได้ถามตัวเอง

  1. คุณรู้ใช่ไหมว่าคนเราทุกคนเกิดมาก็ต้องตาย แล้วคุณเคยคิดถึงความตายของตัวเองบ้างหรือเปล่า?
  2. ถ้าวันหนึ่งสุขภาพคุณแย่ลง สภาพแบบไหนที่คุณไม่ต้องการ หรือ ยอมรับไม่ได้?
  3. ถ้าวันหนึ่งคุณเจ็บป่วยหนัก คุณอยากใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายอย่างไร?

คำถามสามคำถามนี้เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกว่าเป็นคำถามที่ตอบยาก ถ้าเราเคยตอบคำถามเหล่านี้ให้ตัวเอง แสดงว่าเราได้รู้จักการวางแผนล่วงหน้ามาก่อนแล้ว

เชื่อไหมว่า เราไม่รู้เลยว่าคนไข้จำนวนไม่น้อยที่นอนอยู่ในห้อง ICU เขามีความต้องการอย่างไร ได้เคยทบทวนถึงคำถามเหล่านี้มาก่อนหรือไม่

“ตาย” อย่าง “ทรมาน” คือสิ่งที่ไม่มีใครปรารถนาแต่อาจมีคนมอบให้ด้วยความหวังดี

การรักษาที่ให้กับผู้ป่วยหรือสิ่งที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลนั้น เป็นสิ่งเขาต้องการวาระสุดท้ายของชีวิตหรือไม่ การตัดสินใจในเรื่องการรักษาเหล่านี้กลายเป็นหน้าที่ของครอบครัว ลูกหลานของคนไข้ หลายๆ คนบอกว่ารู้สึกลำบากใจ บางคนรู้สึกผิดหลังจากเลือกการรักษาต่างๆ ให้ ซึ่งจริงๆ แล้ว สิ่งที่เราได้รับในบั้นปลายชีวิตโดยที่ไม่เคยวางแผนมาก่อน อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องการหรือสิ่งที่ปรารถนาเลย แต่ว่าคนที่อยู่ข้างหลังอาจจะจำเป็นต้องมอบให้เพราะว่าเขาหวังดีกับเรา

การวางแผนดูแลล่วงหน้าคืออะไร

การวางแผนดูแลล่วงหน้า หรือ Advance Care Planning คือกระบวนการวางแผนดูและสุขภาพที่ทำไว้ ก่อนที่ผู้ป่วยจะหมดความสามารถในการตัดสินใจ หรือเข้าสู่ระยะท้ายของชีวิต อาจจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้

กระบวนการวางแผนดูแลล่วงหน้า

กระบวนการวางแผนดูแลล่วงหน้า จะใช้กระบวนการสนทนาพูดคุยแบบใดก็ได้ระหว่าง

  • ผู้ป่วยกับครอบครัวและทีมบุคลากรสุขภาพ
  • ผู้ป่วยอาจทำด้วยตนเอง
  • ผู้ป่วยปรึกษาสมาชิกในครอบครัว
  • ผู้ป่วยปรึกษาบุคลากรสุขภาพ


การวางแผนดูแลล่วงหน้า โดยหลักการก็คือวางแผนดูแลตั้งแต่วันที่ยังสามารถตัดสินใจได้ ในวันที่ยังมีสติ ในวันที่ยังรับรับรู้ และเลือกแผนการดูแลให้ตัวเองในวาระสุดท้ายของชีวิตได้ หากเวลานั้นมาถึงจริงๆ เราต้องการให้ครอบครัว หรือว่าทีมสุขภาพดูแลเราในรูปแบบไหน อย่างไรในกระบวนการพูดคุย ถ้าต้องการทำเป็นเอกสารแสดงเจตนา เราเรียกสิ่งนี้ว่า “พินัยกรรมชีวิต” เป็นการบันทึกการวางแผนดูแลล่วงหน้าที่ผ่านการพูดคุยเป็นเอกสารทางกฎหมาย เราอาจจะใช้ “สมุดเบาใจ” ในการที่จะบันทึกแผนการดูแลสุขภาพล่วงหน้าของเรา ลงเป็นเอกสารแสดงเจตนา เป็นรูปแบบพินัยกรรมชีวิต

การวางแผนดูแลล่วงหน้า สามารถทบทวนได้เป็นระยะๆ ไม่จำเป็นต้องทำครั้งเดียวจบ เมื่อมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง หรือมีสถานการณ์บางอย่างในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะมีการทบทวน ติดตามแผนการดูแลล่วงหน้าของเรา ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ใครบ้างที่สามารถวางแผนดูแลล่วงหน้าได้

  • ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่คุกคามต่อชีวิต
  • ผู้ป่วยที่คาดการณ์ว่าจะมีชีวิตเหลืออีกไม่นาน
  • ผู้ป่วยระยะท้าย เช่น มะเร็งระยะสุดท้าย ไตวายระยะสุดท้าย ตับวายระยะสุดท้าย
  • ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยๆ
  • ผู้ป่วยเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ
  • ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว ยังสุขภาพแข็งแรงดีอยู่ก็สามารถวางแผนดูแลล่วงหน้าได้

หมอได้มีโอกาสคุยกับคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อป่วยเป็นโรคเบาหวาน ส่วนคุณแม่แข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว เป็นการพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ถึงแผนในอนาคต หากวันหนึ่งที่ท่านทั้งสองเจ็บป่วย หรือว่ามีภาวะวิกฤตต่างๆ เกิดขึ้นในชีวิต ท่านทั้งสองอยากได้รับการดูแลแบบไหน ซึ่งเราพูดคุยกันไปจนถึงกระบวนการดูแลในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต อย่างน้อยทำให้หมอได้รู้ว่าคุณพ่อกับคุณแม่ต้องการอะไร และในฐานะลูกก็มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติตามแผนการดูแลล่วงหน้าที่คุณพ่อคุณแม่มอบไว้ให้

เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยควรวางแผนดูแลล่วงหน้า

  • ทำเมื่อใดก็ได้เมื่อผู้ป่วยและครอบครัวแสดงความต้องการ
  • หรือ “ทำได้เมื่อคุณพร้อม”

คำตอบง่าย ๆ ก็คือทำได้เมื่อเราพร้อม พร้อมเมื่อไหร่ก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้เราเจ็บป่วย หรือเป็นผู้ป่วยระยะท้าย ในวันที่เรายังแข็งแรงดีก็สามารถพูดคุยและตัดสินใจได้เลย

ขั้นตอนการวางแผนดูแลล่วงหน้ามีอะไรบ้าง

  • ต้องการที่จะทำ
  • เริ่มพูดคุย
  • บอกความต้องการด้านการดูแล
  • บันทึกความต้องการ

ซึ่งอันดับแรกเป็นเรื่องของใจ ถ้าพร้อมที่จะทำก็สามารถเริ่มต้นทำได้ ด้วยการเข้าสู่กระบวนการพูดคุย เข้าใจถึงความต้องการความปรารถนาของบุคคลนั้นๆ ว่าสิ่งที่เขาต้องการ หรือสิ่งที่เขาปรารถนาในช่วงที่เจ็บป่วยวิกฤต หรือเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต เขาต้องการอะไร หลังจากที่เราพูดคุยกันเสร็จ จะมีการบันทึกข้อความ หรือบันทึกข้อมูลในสิ่งที่ได้พูดคุยกัน อาจจะเป็นเอกสาร หรือว่าการบันทึกเสียง เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับใช้ในอนาคต

ผู้ป่วยวางแผนล่วงหน้าได้ที่ไหนบ้าง

สามารถวางแผนล่วงหน้าได้ทุกที่ จากภาพตัวอย่างคนไข้ ภาพแรกเป็นภาพของการวางแผนดูแลล่วงหน้าและทำพินัยกรรมชีวิตกับผู้ป่วยระยะท้ายที่โรงพยาบาล ส่วนภาพที่สองก็เป็นการพูดคุยวางแผนดูแลล่วงหน้า และทำพินัยกรรมชีวิตกับผู้ป่วยและครอบครัวที่บ้าน

กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อพร้อมก็สามารถวางแผนดูแลล่วงหน้าที่ไหนก็ได้

การวางแผนดูแลล่วงหน้า และการพูดถึงความตาย หรือวาระสุดท้ายของชีวิตของเรา ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และกระบวนการพูดคุยก็ไม่ได้มีความยุ่งยากซับซ้อน จึงอยากจะเชิญชวนทุกคนมาวางแผนดูแลล่วงหน้ากัน

Message us