พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ และ เวชบำบัดวิกฤต
โรงพยาบาลเอกชัย
แอดมินเพจหมอสายดาร์ก
การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) คืออะไร
ตามคำจำกัดความของ WHO หรือองค์การอนามัยโลก ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า เป็นการดูแลผู้ป่วย โดยมุ่งที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งเผชิญหน้ากับโรคที่คุกคามต่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโรคใด โดยเน้นการดูแลรักษาอาการที่ทำให้ทุกข์ทรมาน ทั้งอาการเจ็บป่วยทางกาย ปัญหาทางจิตใจ สังคม และ จิตวิญญาณแบบองค์รวม ควรให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคระยะสุดท้าย จนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต รวมถึงการดูแลครอบครัวของผู้ป่วยหลังจากการสูญเสียถึงการยอมรับได้และการอยู่กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น
เป้าหมายของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)
- คุณภาพชีวิตที่ดี จนวาระสุดท้ายของชีวิต
- ลดความทุกข์ทรมานจากการยื้อชีวิต การรักษาบางอย่างในห้อง ICU อาจเป็นการรักษาที่สร้างความทุกข์ทรมาน และความเจ็บปวด โดยที่ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ กับคนไข้แล้ว
- ครอบครัวสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีในวาระสุดท้าย
- ทำให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าการดูแลรักษาแบบประคับประคอง
ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายที่บุคลากรทางการแพทย์ และสหวิชาชีพ ผลักดันให้เกิดการดูแลแบบประคับประคองขึ้นในสังคม
ใครที่เหมาะสำหรับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)
- ทุกนที่กำลังเผชิญกับ “โรค-ภาวะคุกคาม” ที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้การดูแลแบบประคับประคองเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของคนไข้และครอบครัวดีขึ้น
- ไม่ว่าจะเป็นโรคใด อาจจะเป็นมะเร็ง หรือ ไม่ใช่มะเร็ง ก็ได้
เมื่อไหร่ที่เราควรเริ่มเข้าสู่การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)
เดิมทีเราคิดว่า Palliative Care เป็นการดูแลเมื่อหมดหนทางในการรักษา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการดูแลแบบประคับคองมุ่งเน้นไปที่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนไข้และครอบครัว ดังนั้นจึงสามารถทำควบคู่ไปกับการดูแลที่มุ่งเน้นไปที่การรักษาโรค (curative care) ได้เลย
เมื่อคนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรค หรือมีภาวะคุกคาม ในช่วงแรกสัดส่วนการดูแลแบบ curative care จะมีมาก บทบาทของ Palliative Care ยังมีน้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาการของโรคมีมากขึ้นเรื่อย ๆ การดูแลแบบ curative care จะเหลือทางเลือกน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อคนไข้มีอาการหนักขึ้น คุณภาพชีวิตเริ่มไม่ดี บทบาทของการดูแลแบบ Palliative Care ก็จะชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งดำเนินมาถึงช่วงท้ายของชีวิต การดูแลแบบนี้เชื่อว่าเป็นรูปแบบที่ทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตดี และสามารถประคองชีวิตคนไข้ได้ยาวนานยิ่งขึ้น
จากกราฟที่เราเห็นเป็นเส้นสีม่วง เป็นโรคเฉียบพลันบางอย่าง เช่น โควิด จากเดิมที่เป็นคนแข็งแรงดีมาตลอด มาป่วยเป็นโควิด มีอาการปอดอักเสบ ก็จะสูญเสียการทำงานของร่างกายลงไปทันทีจนถึงจุดที่ร่างกายสูญเสียการทำงานลงไปมากจนถึงระดับที่เรียกว่าคุณภาพชีวิตไม่ดีอีกต่อไปแล้ว ก็เป็นจุดที่ควรจะเริ่มได้รับการดูแลแบบ Palliative Care ควบคู่ไปกับการรักษาปรกติได้
บางคนอาจจะเป็นโรคเรื้อรังบางอย่าง (กราฟเส้นสีแดง) เช่นเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจมีน้ำท่วมปอดบ่อย ๆ การทำงานของร่างกายไม่ดีมากนัก เมื่อเวลาผ่านไปการทำงานของร่างกายก็ยิ่งแย่ลง และในบางช่วงก็อาการก็แย่ลงแบบเฉียบพลัน อาการเฉียบพลันตรงนี้บางครั้งสามารถรักษาได้และจะไม่ดีเหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อเวลาผ่านไปอาการแย่ลงคนไข้ก็จะเริ่มเข้าสู่ในส่วนล่างของกราฟ ส่วนที่คุณภาพชีวิตไม่ดี ในช่วงเวลานี้จึงควรได้รับการดูแลแบบ Palliative Care ควบคู่กันไปด้วย
อีกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว (กราฟเส้นสีน้ำเงิน) การทำงานของร่างกายไม่ดีอยู่แล้ว เช่นกลุ่มคนไข้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม พาร์คินสันแบบรุนแรง นอนติดเตียงช่วยเหลือตัวเองได้น้อย เป็นกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพามาก คนไข้กลุ่มนี้ก็ควรจะได้รับการดูแลแบบ Palliative Care ควบคู่กัน
ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถดึงกราฟชีวิตของคนไข้ให้กลับมาสู่จุดที่คุณภาพชีวิตดีได้ แต่อย่างน้อยก็สามารถประคองให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีที่สุดเท่าที่บริบทของคนไข้จะเป็นไปได้
จะเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ได้อย่างไร
ติดต่อแพทย์ พยาบาล ที่ดูแลแบบประคับประคอง ณ โรงพยาบาลที่ท่านรับการรักษาเป็นประจำ ทุกโรงพยาบาลมีหน่วยงานที่ดูแลในด้าน Palliative Care อยู่ แจ้งความจำนงกับแพทย์ และ พยาบาลได้ว่าโรงพยาบาลนี้มีการดูแลแบบประคับประคองหรือไม่ คลีนิคนี้อยู่ที่ไหนในโรงพยาบาล และสามารถติดต่อใครได้บ้าง โดยที่ทีมที่ดูแลด้าน Palliative Care จะดูแลคนไข้ไปตลอด ไม่ทอดทิ้งไประหว่างทาง
Palliative Care สามารถทำคู่กับการรักษาปรกติได้ ไม่ใช่การหยุดการรักษา ไม่ใช่การทอดทิ้งคนไข้ไว้กลางทาง แต่จะประคองคนไข้ไปด้วยกัน
หากมีความสนใจในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ หรือเฟซบุ๊คของ Peaceful Death ห้องเรียน Palliative Care, ชีวามิตร, เพจหมอคนสุดท้าย จะมีเรื่องราวต่าง ๆ มาแชร์ให้เข้าใจถึงการดูแลแบบ Palliative Care ได้มากขึ้น
ฝากการดูแลแบบ Palliative Care ไว้เป็นทางเลือกหนึ่ง เมื่อถึงวันที่ท่านจำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบประคับคอง ทีมแพทย์ที่ทำงานด้านนี้ก็พร้อมที่จะดูแลทุกท่าน