เจตจำนงสุดท้ายของแม่

ทรงศรี พาณิชย์ (นาย)
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
วันที่สัมภาษณ์: 16 มีนาคม 2567
วันที่เผยแพร่: 9 พฤษภาคม 2567

ไม่ว่าแม่จะเขียนอะไรไว้ใน สมุดเบาใจ แต่หากวันนั้นลูกไม่พร้อมให้แม่จากไปจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แม่ก็พร้อมจะอยู่แม่พร้อมถูกยื้อ และนอนติดเตียงเป็นผัก ไม่กระดุกกระดิกเลย 10 ปีก็ได้ รอจนกว่าลูกจะพร้อมปล่อยแม่ไป

เจตจำนงสุดท้ายของ ทรงศรี พาณิชย์ (นาย) อดีตผู้บริหารบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของเมืองไทยที่ค้นพบคำตอบของชีวิตจากบทบาทความเป็น ‘แม่’ และในวัยที่อายุกำลังย่างเหยียบเลข 6 อยู่ไม่กี่ปี นอกจากบริษัทเล็กๆ ที่ออกมาทำระหว่างเลี้ยงลูกและดูแลเป็นหลังบ้านของครอบครัวแล้ว สิ่งที่เธอให้ความสำคัญและหันกลับมาดูแลอย่างจริงๆ จังๆ ก็คือใจตัวเอง 

“พอมีลูก ชีวิตคู่เปลี่ยนไปเลย ด้วยความที่เราเป็นเวิร์กกิ้งวูแมนที่ประสบความสำเร็จและมั่นใจในตัวเองพอสมควร ขณะที่สามีก็หนึ่งในตองอูเหมือนกัน พอมีลูกก็เหมือนเรามีของรักร่วมกัน แต่ไปในทางเดียวกันไม่ได้ ต่างคนต่างมีความคิดกันคนละแบบและไม่มีใครยอมใคร ชีวิตจึงหม่นหมองอยู่พักใหญ่ จนวันหนึ่งคุณหน่อย (ทรงสมร พาณิชย์) ซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆ มาพูดกับเราว่า “ความเห็นส่วนตัวของน้า สงสารหลานนะ เพราะเขาเหมือนเด็กที่ยืนอยู่บนสกี ที่ข้างหนึ่งคือพ่อและอีกข้างหนึ่งคือแม่ และทั้งสองข้างไม่ไปด้วยกันเลย แต่เขาพยายามสกีไปข้างหน้าด้วยขาทั้งสองข้างที่ไม่สมดุลกัน’

เส้นทางที่เปลี่ยนไป

“หลังจากมานั่งทบทวนตัวเอง เราก็รู้สึก เอ๊ะ! ขึ้นมาว่า ถ้าเราทำถูก ทำดีมาทุกอย่าง ทำไมวันนี้เรายังรู้สึกทุกข์ และเรากำลังพาให้ลูกเป็นทุกข์ไปด้วย เพราะเขามีชีวิตอยู่ท่ามกลางพ่อและแม่ที่คิดกันไปคนละทาง ตอนนั้นเราตัดสินใจหันหน้าเข้าหาคอร์สพัฒนาตัวเองต่างๆ และเข้าคอร์สวิปัสสนาจริงจัง ซึ่งคอร์สนั้นก็ทำให้เราได้เห็นว่า อะไรที่ทำให้เราเป็นทุกข์

“ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตที่ยึดเอาความดีของตัวเองเป็นความถูกต้องหนึ่งเดียว และไม่มีความดีใดอยู่เหนือความดีของเรา เราปิดหูปิดตา ไม่รับฟังสิ่งที่คนอื่นพูด เราเฝ้าแต่มองว่าทุกข์นี้เกิดขึ้นเพราะคนอื่น เราเอาแต่โทษคนอื่น ฉันถูก เธอผิด เราเห็นแต่นิ้วชี้นิ้วเดียวที่ชี้ไปหาคนอื่น แต่อีก 4 นิ้วที่ชี้มาหาตัวเองเราไม่เห็นเลย  จึงทำให้เราออกจากทุกข์ไม่ได้สักที ทั้งที่จริงๆ ความทุกข์ทั้งหมดล้วนมาจาก ‘เรา’ ทั้งนั้น 

 “ความทุกข์จะเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มยึดติดกับสิ่งใดก็ตาม เช่น เรายึดติดกับสุนัขที่เรารัก เมื่อสุนัขตาย…เราก็ทุกข์ หรือเรายึดติดกับนาฬิกาสักเรือนหนึ่ง พอนาฬิกาเสียหรือถูกขโมยไป…เราก็ทุกข์ หรือหากเรายึดติดกับคนรัก เมื่อคนรักตาย หรือพลัดพรากจากการ…เราก็ทุกข์ ฯลฯ ความทุกข์เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะในโลกนี้ล้วนเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน ทุกอย่างเมื่อเกิดแล้วย่อมมีวันดับ เช่นเดียวกับชีวิตคนเรา”

เมื่อคนเราต้องตาย

“ไปเข้าคอร์สปฎิบัติธรรม 10 วัน โดยไม่มีการพูดคุย ในวันที่ 7 เราก็ตระหนักถึงความตายขึ้นมา จากเมื่อก่อนเราไม่เคยคิดว่าตัวเองจะตาย (หัวเราะ) ตลกมากเลยนะ เราเป็นมนุษย์ที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะแก่ จะตาย และเชื่อว่าหลายคนก็น่าจะเป็นเหมือนกัน คือเราคิดว่าตัวเองรู้จักความตาย แต่ลืมไปว่าเราทุกคนล้วนมีความตายเป็นของตัวเอง ความตายกำลังมาเยือนเราทุกขณะ และความตายไม่ได้เรียงลำดับอายุ ฉะนั้น วันหนึ่งเราต้องตาย สามีเราก็ต้องตาย พ่อแม่เราก็ต้องตาย ลูกเราก็ต้องตาย ฯลฯ โดยไม่รู้ว่าเมื่อไรและใครก่อน ใครหลัง 

“จังหวะที่เรารู้ว่า คนเราต้องตาย ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า ถ้าเราตาย เราห่วงอะไร ช่วงนั้นเราก็เริ่มสนใจเรื่องความตาย และเหมือนชีวิตจะดึงดูดสิ่งที่เราสนใจมาให้ วันหนึ่งสามีก็พูดเรื่องการจัดการความตายขึ้นมา 

“ด้วยความที่คุณแม่ของสามีป่วยติดเตียงกว่า 8 ปี ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต สามีจึงค่อนข้างกลัวที่จะตกอยู่ในสภาพนั้น จึงไปเล่าให้เพื่อนฟังว่า หากเขาอยู่ในสภาวะป่วยวิกฤต เขาไม่อยากอยู่ในอุปกรณ์ยื้อชีวิต ไม่อยากนอนป่วยติดเตียง เพราะเขาเชื่อในเรื่องการมีชีวิตที่ได้ใช้ชีวิต จะให้นอนเป็นผัก กระดุกกระดิกไม่ได้ในขณะที่ยังมีลมหายใจ เขาไม่เอาเด็ดขาด และประโยคที่เขามักจะพูดเสมอๆ ก็คือ มีลมหายใจยาวไม่ได้หมายความว่าชนะ   “เพื่อนสามีที่เรียนหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษามาแนะนำให้รู้จักกับ

สมุดเบาใจ

หนังสือแสดงเจตจำนงล่วงหน้าเกี่ยวกับสุขภาพช่วงสุดท้ายของชีวิตและการตายดี จากนั้นก็ส่งสมุดเบาใจพร้อมเกมไพ่ไขชีวิตมาให้ พอเราได้รับมา ก็เอามานั่งอ่านและนั่งเล่นด้วยกันกับคุณพ่อคุณแม่ทั้งครอบครัวเลย ซึ่งสมุดเบาใจตอบโจทย์เรามาก และเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเข้าคอร์ส ‘ออกแบบวันสุดท้ายเพื่อชีวิตในวันนี้ เรียนรู้ความไม่แน่นอนของชีวิต’ กับกลุ่ม Peaceful Death”

เบาใจสู่การตายดี

“คอร์สนี้ทำให้เรารู้ว่า ถ้าเราตาย เราต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เรื่องการรักษาพยาบาลก็เป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องที่เราห่วงและหวงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความห่วงลูก ห่วงพ่อแม่ ห่วงสามี หวงสมบัติ ฯลฯ ซึ่งสมุดเบาใจอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมดที่ว่ามา แต่ก็ช่วยให้เราได้คิดต่อในหลายๆ เรื่อง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มวางแผนเรื่องต่างๆ รวมถึงการจัดการทรัพย์สิน  

 “สำคัญกว่านั้น การเข้าร่วมในกลุ่มที่มีการแบ่งปันประสบการณ์กัน ทำให้เรารู้ชัดว่า การเขียนอะไรลงไปในสมุดเบาใจก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะที่ผ่านมาก็มีบางเคสที่ลูกหลานหรือญาติไม่ทำตามสมุดเบาใจก็มี จากความรู้ส่วนตัวทราบมาว่า คุณหมอก็ต้องถือเอาความประสงค์ของญาติผู้ป่วยเป็นหลัก ถึงอย่างนั้นเราก็ยังรู้สึกว่า โดยวัตถุประสงค์ของสมุดเบาใจนั้นดีมาก เพียงแค่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยสมุดเบาใจก็ทำให้เราตระหนักถึงความตายอย่างมีแบบแผน และเมื่อเราตระหนักถึงความตาย ชีวิตเราก็เปลี่ยน

 “หลังจากทำสมุดเบาใจ เรารู้สึกว่าคนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อรอวันตาย แต่เราเกิดมาและเดินทางก่อนจะถึงวันตาย โดยระหว่างที่เดินทางนี้เราจะดำรงอยู่อย่างไรให้มีคุณค่า และไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยไม่ทำให้ใครบาดเจ็บหรือเบียดเบียนชีวิตอื่นๆ ภายใต้บทบาทที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแม่ เป็นลูก เป็นพี่น้อง เป็นภรรยา เป็นเจ้านาย เป็นเพื่อน เป็นคนในสังคม เป็นมนุษย์โลก ฯลฯ”

ปลูกต้นอะไร… ย่อมได้ผลเช่นนั้น

“สมุดเบาใจมีผลกับชีวิตที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ แม้เราจะไม่อาจฝันถึงภาพสุดท้ายในชีวิตได้ชัดเจนว่าจะเป็นภาพใด เราเห็นจริงในคำเล่าเรื่องหนึ่งของอาจารย์จากคอร์สสิบวันที่ไปปฏิบัติมาว่า ตลอดมาทุกๆ การกระทำของเรานั้นเสมือนการปลูกต้นไม้ หากเรามั่นใจว่าต้นไม้ที่ปลูกคือต้นอ้อย แน่นอนว่าเมื่อเก็บผลผลิตแล้วนำมาหีบน้ำ น้ำนั้นก็น่าจะหวาน แต่ถ้าต้นไม้ที่ปลูกนั้นคือมะระ แน่นอนว่าหากนำมะระมาหีบน้ำ น้ำนั้นก็น่าจะขม

  “ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม อยากให้ทุกคนมั่นใจก่อนว่า สิ่งนั้นคืออ้อยที่ให้น้ำที่หอมหวาน หรือเป็นมะระที่ให้น้ำที่มีรสขม หลายคนปลูกมะระ แล้วหวังว่าในวันสุดท้ายจะได้น้ำที่หอมหวานก็คงยาก ฉะนั้น ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นไปตามเหตุและปัจจัย และเราตั้งใจว่าการเกิดเป็นคนคนหนึ่ง เราไม่อยากตายเป็นคนคนเดิม อ้างอิงจากคำสอนใน IG ของ พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ ที่โพสต์ไว้ว่า

“ชีวิตของเราก็เหมือนกับเป็นภาชนะว่าง ถ้าหากเราไม่สนใจ ไม่ตั้งใจในการฝึกฝนอบรมตน เอาแต่ของไม่สะอาดใส่ไปในกาย วาจา ใจของเรา ชีวิตของเราก็เป็นภาชนะว่างที่กลายเป็น ‘กระโถน’ แต่ถ้าเราฝืนกิเลสของตัวเอง ไม่ทำตามกิเลส สนใจในการที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยธรรมะ ทำให้ชีวิตเบิกบานโดยคุณธรรม ก็เหมือนกับว่าเราตั้งภาชนะนี้ไว้ในที่ที่ดี แล้วเอาดินใส่ เอาต้นไม้ใส่รดน้ำ พรวนดิน เสร็จแล้วภาชนะนี้จะเรียกกระโถนไม่ได้ ต้องเรียกว่าเป็น ‘กระถาง’

“เราจึงไม่อยากเกิดและตายเป็นคนคนเดิม อะไรที่คิดว่าไม่ดีก็ปรับปรุงพัฒนาตัวเอง เพราะเราทุกคนสามารถปรับเปลี่ยนได้ ในวันที่เราเป็นกระโถน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นกระถางไม่ได้ และในวันที่เราเป็นกระถาง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นกระโถนไม่ได้ ฉะนั้น เกิดมาเป็นกระโถน แต่เราทุกคนสามารถเติบโตและจากไปแบบกระถางได้”

เจตจำนงสุดท้าย

“ในวันที่ส่งมอบสมุดเบาใจ เราจะบอกกับลูกชายว่า ไม่ต้องสนใจว่าข้อความในสมุดเบาใจจะเขียนไว้ว่าอย่างไร หากการอยู่ การจัดการแม่ ทำให้เขามีความสุข เราก็พร้อมรับทุกรูปแบบเพื่อเขาเสมอ เพราะในวันข้างหน้า เราอาจจะมีเรื่องติดค้างคาใจกัน ทำผิดต่อกัน หรืออะไรก็ตามแต่ แล้วลูกอยากไถ่บาปด้วยการยื้อให้เราอยู่ต่อ รักษาและดูแลเราอย่างดีชดเชยบางสิ่งบางอย่าง เราพร้อมอยู่เพื่อเขา

  “เราไม่อยากจากไปทั้งๆ ที่ลูกยังรู้สึกผิด ติดค้างคาใจ หรือรู้สึกแย่กับตัวเอง เราไม่อยากให้การตายของเราสร้างความขมขื่นในชีวิต แต่เราอยากจากไปโดยที่เขาภาคภูมิใจและใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข อยากให้ทุกๆ วันที่เขาเดินไป รู้สึกว่าชีวิตที่แม่ให้มานั้นเป็นสิ่งที่ดี และเห็นคุณค่าของลมหายใจ มีพลังกายและพลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป ฉะนั้น อะไรก็ตามที่จะนำพาลูกไปสู่จุดนั้นได้ เราพร้อมจะทำ พร้อมจะยอม นั่นแหละจึงจะทำให้รู้สึกว่า หน้าที่แม่ของเรานั้น Complete!”    

ต้องการอ่านแบบ eFile

Download PDF

เรื่องเล่าสมุดเบาใจอื่นๆ

Message us