สู่ชุมชนเบาใจ

อาจารย์วรัญญา จิตรบรรทัด (หนับ)
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
วันที่สัมภาษณ์: 3 มีนาคม 2567
วันที่เผยแพร่: 24 พฤษภาคม 2567

สมุดเบาใจไม่ใช่สมุดเตรียมตัวตายไม่ต้องรอให้ถึงวาระสุดท้ายแล้วค่อยทำ แต่สมุดเล่มนี้จะช่วยสื่อสารความต้องการ และความรู้สึกของเราให้ครอบครัวรับรู้ และนำไปสู่การอยู่ดีและตายดีในที่สุด อีกแง่หนึ่งสมุดเบาใจก็ยังช่วยให้คนข้างหลังไม่ต้องเดาใจ หรือตัดสินใจแทนผู้ตาย ไม่ต้องติดค้างคาใจว่า เราทำพลาดไปไหม

อาจารย์วรัญญา จิตรบรรทัด (หนับ) รองผู้อำนวยการด้านวิจัยและบริการวิชาการ และอาจารย์พยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี  นครศรีธรรมราช คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก กระบวนกรชุมชน ผู้นำพาชุมชนบ้านนาเคียนก้าวสู่การเป็นชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี     

“โดยหน้าที่ของพยาบาล พวกเราจะเน้นการดูแลวิถีทางกายของผู้ป่วยเป็นปกติอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่ทำให้เราหันมาสนใจดูแลผู้ป่วยในมิติจิตวิญญาณร่วมด้วยนั้น เริ่มมาจากเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว พ่อป่วยหนักและจากไปด้วยอาการปอดติดเชื้อ

“ระหว่างที่ท่านรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น เราก็คิดว่าเราทำหน้าที่ลูกอย่างดีที่สุด ดูแลท่านสุดความสามารถจนวินาทีสุดท้าย และทำตามที่คำสอนบัญญัติไว้ทุกอย่าง เรียกว่าทางกายเราจัดการได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่ทางใจเรากลับไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เราทำให้พ่ออย่างเต็มที่นั้นเป็นสิ่งที่พ่อต้องการหรือเปล่า

“มีอยู่วันหนึ่งที่แม่และป้ามาเยี่ยมพ่อที่โรงพยาบาล ตอนนั้นท่านพูดสื่อสารไม่ได้แล้ว แต่ท่านโผกอดและร้องไห้กับแม่และป้า ซึ่งเป็นภาพที่เราไม่เคยเห็นเลยระหว่างที่ดูแลท่าน จนวันที่อาการท่านแย่ลงและต้องทำการปั๊มหัวใจ ภาพนั้นก็ติดอยู่ในความทรงจำอยู่นาน พร้อมๆ กับคำถามมากมายที่ไม่มีคำตอบว่า ‘พ่ออยากอยู่โรงพยาบาลไหม’, ‘พ่ออยากกลับบ้านหรือเปล่า’, ‘เราทำพลาดไปหรือเปล่า’ ฯลฯ”

หยุดความเจ็บช้ำ

“ที่ผ่านมาในมุมของพยาบาลนั้น พวกเราจะถูกสอนให้รักษาชีวิตผู้ป่วย เรารู้หมดว่าจะดูแลอย่างไรให้ผู้ป่วยหาย รอด ปลอดภัย และมีชีวิตอยู่ยาวนานที่สุด จนเมื่อเราตัดสินใจเข้าร่วมอบรมกับทาง Peaceful Death เพื่อเรียนรู้ทักษะการเยียวยา เตรียมตัว และทำความรู้จักกับความตายเสียใหม่ นั่นเองที่ทำให้เรารู้ว่า การยื้อชีวิตให้อยู่ต่อไปอาจจะไม่ใช่คำตอบของทุกคน ยิ่งช่วงนั้นเพิ่งผ่านการสูญเสียพ่อไปเพียงปีเดียว ก็ยิ่งทำให้เราตระหนักว่า ความตายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เลี่ยงไม่ได้ และการเตรียมตัวรับมือกับความตายไว้ก่อนจะช่วยให้เราเจ็บช้ำน้อยกว่า 

“ในการอบรมครั้งนั้น ทำให้เราได้รู้จักกับสมุดเบาใจและเกิดความคิดขึ้นมาว่า ‘ถ้าทุกคนได้เขียนสมุดเล่มนี้ไว้ ก็น่าจะช่วยให้ไม่เกิดความเจ็บช้ำกับคนข้างหลังเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับเรา’ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เรานำสมุดเบาใจเข้ามาใช้กับคนในชุมชนบ้านนาเคียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

สู่ครอบครัวเบาใจ

“กลุ่มแรกที่เรานำทักษะที่ได้จากการอบรมมาใช้ก็คือครอบครัวของเราเอง ซึ่งมีสามีและลูกๆ ทั้งสี่คนที่อยู่ในวัยประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย โดยเริ่มจากการพูดคุยเรื่องความตายผ่านกระบวนการจิตตปัญญา ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ภายในตัว ก่อนจะให้ทุกคนเขียนสมุดเบาใจแสดงเจตจำนงของตัวเองไว้ และผลที่ได้ก็คือ พฤติกรรมลูกๆ รวมถึงเราเอง หรือแม้แต่สามีก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น เราฟังกันมากขึ้น เวลาโมโหก็ไม่โวยวายหรือแสดงสีหน้า แต่จะเปิดใจพูดคุยกัน รู้จักขอโทษกันมากขึ้น เพื่อจะได้ไม่มีอะไรติดค้างคาใจกัน ฯลฯ

“สองปีหลังจากเสียคุณตา (พ่อ) คุณย่า (แม่ของสามี) ก็เริ่มป่วยหนัก เราก็นำทักษะนั้นมาใช้ และทราบว่าท่านอยากอยู่โรงพยาบาล แต่ขอเป็นห้องสงบเงียบ มีบรรยากาศเหมือนที่บ้าน และมีลูกหลานคอยอ่านคัมภีร์ให้ฟัง ทุกอย่างถูกจัดตามความต้องการของคุณย่าทั้งหมด ท่านได้อยู่กับลูกๆ หลานๆ พูดคุยกัน จับมือกัน กอดกันจนลมหายใจสุดท้าย และจากไปอย่างสงบ 

“ความตายทั้งของคุณตาและคุณย่ากลายเป็นตำราที่ทำให้ลูกๆ ทั้งสี่ได้เรียนรู้ว่า ความตายจะทำให้พวกเขาไม่ได้เจอกับคนเหล่านี้แล้ว และถ้าไม่อยากเสียใจหรือเสียดายเมื่อวันหนึ่งที่ต้องจากกัน เขาก็ต้องทำดีต่อกัน รักกัน และใช้เวลาที่อยู่ด้วยกันอย่างดีที่สุด

“จากครอบครัว เราก็นำทักษะนั้นมาขยายผลไปสู่เพื่อนร่วมงาน นักศึกษา กระทั่งมาถึงคนในชุมชน เพราะเราเห็นถึงประโยชน์ของการระลึกถึงความตายที่ช่วยให้พฤติกรรมและ Mindset ของทุกคนเปลี่ยนได้จริงจากข้างใน”

สร้างชุมชนแห่งการตายดี

“เรารับสมัครจิตอาสาในชุมชนบ้านนาเคียนในการลงเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุในชุมชน โดยจิตอาสาทุกคนต้องผ่านการอบรมทั้งทางด้านการฟังและการใช้คำถามผ่าน ‘เกมไพ่ไขชีวิต’ ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างบทสนทนาเรื่องชีวิตและความตายอย่างง่าย เพื่อจะทำให้การพูดคุยเรื่องความตายกับผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง และครอบครัวให้ดูเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ดูเหมือนการถูกแช่ง 

“คำถามในเกมไพ่ไขชีวิตนี้ จะมีตั้งแต่คำถามในประเด็นเบาๆ จนถึงประเด็นหนักๆ โดยในครั้งแรกที่ลงเยี่ยมบ้าน อาจจะเลือกไพ่ประเด็นเบาๆ ผ่อนคลายไปเล่น ก่อนจะเพิ่มความลึกซึ้งของคำถามขึ้นเรื่อยๆ ในครั้งต่อไป และเมื่อเล่นเกมไพ่จนครบแล้ว ทางจิตอาสาก็จะชักชวนให้ผู้ป่วยเขียนสมุดเบาใจ ปรากฏว่ามีผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงที่สนใจมากมาย แต่คนที่เขียนเสร็จสมบูรณ์นั้นน้อยมาก เนื่องด้วยต้องการพูดคุยกับลูกหลานก่อน

“ด้วยความที่ชุมชนของเรานั้นเป็นชุมชนมุสลิม จึงได้รับการสั่งสอนเรื่องความตาย หรือการระลึกถึงความตายมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ฉะนั้น การชวนพูดคุยเรื่องความตายในมิติของจิตวิญญาณนั้นง่ายมาก และที่ผ่านมาพวกเขาหาพื้นที่พูดคุยเรื่องนี้ไม่ได้ หรือไม่มีจังหวะและโอกาสที่จะได้พูด หลายรายก็ไม่กล้าพูดคุยกับลูกหลานว่า เขาไม่ได้อยากตายที่โรงพยาบาล แต่เขาอยากตายที่บ้านซึ่งมีลูกหลานห้อมล้อม ฯลฯ แต่พอได้รับสมุดเบาใจมา ก็เหมือนเป็นโอกาสที่เขาจะได้สื่อสารกับลูกหลาน 

“เพราะที่ผ่านมา ความต้องการของลูกหลานมักจะสวนทางกับความต้องการของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยอยากจะพอแล้ว ไม่อยากเป็นภาระ แต่ลูกหลานกลับต้องการรักษาให้ถึงที่สุด เพื่อเขาจะได้ไม่เสียใจในภายหลัง สมุดเบาใจก็เข้ามาช่วยให้ครอบครัวได้พูดคุยกันและหาจุดสมดุลไปด้วยกัน

“จะเห็นได้ว่าการพูดคุยเรื่องความตายในชุมชนชาวมุสลิมนั้นไม่ยากหรอก แต่อุปสรรคอยู่ที่ ‘ความไม่รู้’ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่วงสุดท้าย มีหลายรายที่เข้าใจไปเองว่า การลงลายลักษณ์อักษรในสมุดเบาใจนั้นเหมือนเป็นคำสัญญา ถ้าวันหนึ่งเขาอยากจะเปลี่ยนข้อความแล้ว กลัวจะเปลี่ยนไม่ทัน และการแสดงเจตจำนงว่าไม่ใส่ท่อใดๆ นั้นก็คือการปล่อยให้ตาย ฯลฯ นี่เองที่ทำให้ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา คนที่เขียนสมุดเบาใจเสร็จสมบูรณ์นั้นมีไม่เกิน 5 ราย หนึ่งในนั้นก็คือคุณยายวัย 80 ปี ที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนบ้านนาเคียนจนถึงปัจจุบัน”

อยู่ดี-มีสุข

“คุณยายท่านนี้มีลูกทั้งหมด 4 คน เดิมทีท่านเกิด เติบโต และใช้ชีวิตอยู่ที่ชุมชนบ้านนาเคียน แต่ด้วยวัยที่เพิ่มมากขึ้นและโรคประจำตัวที่ต้องหาหมอเป็นประจำ ลูกคนโตซึ่งมีฐานะดีที่สุดในบรรดาลูกๆ ทั้งหมด จึงอาสาขอรับแม่ไปดูแลที่อีกจังหวัดหนึ่ง 

“เวลาผ่านไปเป็นปี อยู่มาวันหนึ่ง คุณยายก็บอกกับลูกคนโตว่า แม่มีความสุขมากนะที่ได้อยู่กับลูก แต่แม่อยากกลับไปตายที่บ้านเดิม ก็คือบ้านซึ่งปัจจุบันลูกคนที่สองอาศัยอยู่  โดยก่อนหน้านี้ก็อยู่ด้วยกัน แต่ก็จะมีงอนกันบ้าง ปะทะคารมกันบ้างตามประสา แต่สุดท้ายลูกคนที่สองก็ยินดีเป็นผู้ดูแลแม่ โดยพี่น้องที่เหลือจะคอยซัปพอร์ตเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ

“เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังคุณยายได้รับสมุดเบาใจจากเราไป และทำให้เขาได้รู้ใจตัวเองว่า ก่อนตายเขาอยากใช้ชีวิตที่ไหน และอยากให้ลูกหลานดูแลและมาเยี่ยมเยียนอย่างไร และเมื่อตายเขาอยากให้ฝังร่างที่ไหน จากเดิมที่ไม่กล้าพูดคุยกับลูกๆ เพราะกลัวลูกคนโตจะเสียใจที่อยากกลับไปอยู่กับลูกคนที่สอง และก็กลัวลูกคนที่สองไม่ต้อนรับ เพราะตอนแรกตัดสินใจมาอยู่กับลูกคนโตแล้ว 

“แต่ปรากฏว่าพอทุกคนได้นั่งเปิดใจพูดคุยกัน ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะเป้าหมายของลูกๆ ทุกคนก็คืออยากให้แม่มีความสุขที่สุด เพียงแต่ก่อนหน้านั้นพวกเขาอาจจะทำโดยไม่ได้ถามความต้องการจริงๆ ของแม่ แต่พอรู้แล้วว่าแม่ต้องการอะไร ทุกคนก็พร้อมจะทำให้โดยไม่รีรอ 

“เคสนี้จึงพิสูจน์ได้ว่า สมุดเบาใจไม่ได้ช่วยแค่เรื่องตายดี แต่ยังช่วยให้เราอยู่ดีอีกด้วย เพราะทุกวันนี้แม้คุณยายจะต้องใช้วอล์กเกอร์ช่วยเดินไปไหนมาไหนแล้ว แต่การได้กลับมาอยู่บ้านที่ห้อมล้อมไปเพื่อนสนิท มิตรสหายที่เติบโตมาด้วยกัน มีญาติพี่น้องที่แวะเวียนมาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบอยู่ไม่ขาด แค่นี้ก็ถือว่าชีวิตอยู่ดีมีสุขแล้ว”

สังคมเบาใจ

“นอกจากความต้องการสร้างชุมชนบ้านนาเคียน รวมถึงชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดให้เป็นชุมชนแห่งการอยู่ดีและตายดีแล้ว ปัจจุบันเรากำลังดำเนินการนำหลักสูตร ‘สมุดเบาใจ’ บรรจุไว้ในโรงเรียนผู้สูงอายุในจังหวัดนครศรีธรรมราช “เราอยากให้ ‘ความตาย’ เป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าเด็ก วัยรุ่น หรือคนสูงวัย ฯลฯ เพราะเมื่อเราระลึกถึงความตาย หรือเพียงรู้สึกว่าความตายกำลังใกล้เข้ามา มุมมอง ความคิด และพฤติกรรมต่างๆ เราย่อมเปลี่ยน และสังคมเราก็จะดีขึ้น การแข่งขัน การแก่งแย่งชิงดี เบียดเบียนกัน ก็จะเบาบางลง และบรรยากาศที่การตายเป็นเรื่องของชุมชน หรือภาพชุมชนที่มีแต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ช่วยเหลือกัน เห็นอกเห็นใจกัน ที่เคยเลือนหายไปจากสังคมไทยอาจจะกลับคืนมา…สักวันหนึ่ง”

  

ต้องการอ่านแบบ eFile

Download PDF

เรื่องเล่าสมุดเบาใจอื่นๆ

Message us