ศศิธร มารัตน์ (ตุ๊กตา)
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
วันที่สัมภาษณ์: 12 กุมภาพันธ์ 2567
วันที่เผยแพร่: 24 พฤษภาคม 2567
ความตายไม่ใช่เรื่องอัปมงคล แต่ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิต หากเราบอกรักกันทุกวันอย่างไร ก็คุยเรื่องความตายกันอย่างนั้นคุยให้เหมือนเรื่องปกติธรรมดา คุยเพื่อเตรียมความพร้อมให้ชีวิต
ศศิธร มารัตน์ (ตุ๊กตา) พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้างานผู้สูงอายุและส่งเสริมสุขภาพชุมชน ภายใต้ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนหนึ่งในความสำเร็จของ ‘ศูนย์ผู้สูงอายุเขาทอง’ พื้นที่ทดลองและพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชน เพื่อเป็นฐานงานที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนที่บริหารจัดการและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน โดยภารกิจหลักก็คือการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ทั้งการดูแลสุขภาพและดูแลแบบประคับประคอง
“ถ้าเราตระหนักได้ว่า ความตายมันใกล้เข้ามาทุกขณะ ก็เตรียมตัวไว้ได้เลย ไม่ต้องรอให้ป่วย รอให้เจ็บ ฯลฯ เพราะความตายมาหาเราได้ตลอดเวลา ทุกวันนี้นอกจากบทบาทด้านการดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ลงพื้นที่ สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมให้กับชุมชนเพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้สูงอายุ และการเป็นฐานการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาแล้ว อีกงานที่เราพยายามทำและขยายผลมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุในชุมชนได้เรียนรู้และยอมรับความตายทั้งของตัวเองและคนรอบข้างผ่านเครื่องมือต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือการนำสมุดเบาใจมาใช้”
สมดุลชีวิตผู้สูงอายุ
“ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2560 เราเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับ ‘การปรับสมดุลของผู้สูงอายุหลังการจากไปของคู่ครอง’ (The balance the lives of the elderly after the departure of suitors) เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับกระบวนการคลี่คลายความทุกข์ของผู้สูงอายุในชุมชนชนบทเมื่อคู่ครองจากไปและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางบริหารจัดการปรับสมดุลการใช้ชีวิตให้ผู้สูงอายุในชุมชน เมื่อคู่ครองของเขาจากไป
“โดยการวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีเก็บข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้สูงอายุทั้งหมด 12 ราย เป็นชาย 6 ราย และหญิง 6 ราย อายุตั้งแต่ 60-80 ปีขึ้นไป ก่อนจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และพบว่า ผู้สูงอายุทั้ง 12 คน แม้จะเสียใจต่อการจากไปในช่วงแรกเพียงใด แต่ทุกคนก็สามารถคลี่คลายความทุกข์และกลับมาเป็นปกติได้ภายใน 3 เดือน
“ในระยะแรกของการสูญเสีย ผู้สูงอายุชายจะรู้สึกเสียใจมากกว่าผู้สูงอายุหญิง เพราะเคยชินกับการได้รับการดูแล เอาใจใส่ และปรนนิบัติของภรรยา ตรงกันข้ามกับผู้สูงอายุหญิงที่จะรู้สึกโล่งใจ สบายใจ เพราะได้ดูแลสามีอย่างเต็มที่ในตลอดช่วงชีวิตคู่ที่ผ่านมา รวมถึงประสบการณ์ชีวิตมีส่วนในการทำให้ยอมรับการสูญเสีย ยิ่งไปกว่านั้น ‘ปูมหลัง’ หรือประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาก็เป็นส่วนหนึ่งของการยอมรับการสูญเสีย โดยผู้ที่มีโอกาสดูแลกันก่อนเสียชีวิตจะสามารถคลี่คลายความทุกข์ได้ดีกว่า และเข้าใจในสัจธรรมของชีวิตว่าทุกคนก็ต้องตาย
“จากผลการวิจัยดังกล่าว เรายังพบว่า การสูญเสียคู่ครองของผู้สูงอายุยังเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพและสภาวะปัญหาอื่นๆ ของผู้สูงอายุ รวมถึงหากผู้สูงอายุคนใดไม่ได้เตรียมใจหรือวางใจในการจากไปของคู่ครองก็มีความเสี่ยงที่ภาษาถิ่นของเขาทองเรียกว่า ‘เฉาตาย’ ตามกันในผู้สูงอายุ หลังจากเราได้องค์ความรู้เหล่านี้มา ทุกครั้งที่ลงพื้นที่เยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้าน เราก็จะชวนพูดคุยเรื่องนี้กับผู้สูงอายุตลอด ให้ผู้สูงอายุได้ร่วมกันวางแผนชีวิตให้กันและกันหากวันหนึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องจากไป เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเกิดการสูญเสียขึ้นจริงๆ”
เครือข่ายชุมชนกรุณา
“การทำงานที่ผ่านมาของเราก็เป็นเพียงการทำไปตามประสบการณ์และองค์ความรู้ที่เรามี จนเมื่อสองปีที่แล้วที่ได้มีโอกาสเข้าร่วม ‘โครงการชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี’ กับทางกลุ่ม Peaceful Death โดยการชักชวนของ อาจารย์แบต (ผศ. ดร.สุปรียส์ กาญจนพิศดาล) รองประธานมูลนิธิ สถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา ก็ทำให้เรารู้หลักการและมีแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น
“อีกทั้งยังมีทักษะในการใช้ชุดเครื่องมือของ Peaceful Death ไม่ว่าจะเป็นเกมไพ่ไขชีวิต ไพ่ฤดูฝน การ์ดประตูใจ หรือสมุดเบาใจ ฯลฯ ซึ่งช่วยในการพูดคุยกับผู้สูงอายุเพื่อนำไปสู่การวางแผนล่วงหน้า (Advance Care Planning) ได้ง่ายขึ้น นอกจากการใช้งานกับผู้สูงอายุในชุมชนเขาทองแล้ว ยังนำไปใช้ในการขยายเครือข่ายชุมชนกรุณา เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ ทักษะกระบวนกรชุมชน และสร้างวัฒนธรรม ‘ความตายพูดได้’ ให้ชุมชนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนกรุณาในพื้นที่เทศบาลตำบลวัดสิงห์ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท และสถานสงเคราะห์คนชราบ้านนิคมเขาบ่อแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ฯลฯ”
เบาใจในสถานสงเคราะห์
“นอกจากผู้สูงอายุในชุมชนแล้ว ก็ยังมีผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ต่างๆ ซึ่งเรามองว่าเขามีโอกาสน้อยกว่าผู้สูงอายุทั่วไป ด้วยข้อจำกัดต่างๆ อีกทั้งผู้สูงอายุส่วนใหญ่มาอยู่ในสถานสงเคราะห์ด้วยภาวะจำยอม จึงอาจจะมีปมในใจมากกว่าผู้สูงอายุทั่วไป และอาจไม่กล้าพูด ไม่กล้าคุย ไม่กล้าบอกความต้องการได้ทั้งหมดกับเจ้าหน้าที่ เพราะไม่อยากสร้างภาระให้ใครอีกแล้ว
“เหตุนี้เอง ในเดือนสิงหาคมปี 2566 เราจึงเริ่มเขียนการวางแผนการดูแลสุขภาพล่วงหน้าในสถานสงเคราะห์คนชราบ้านเขาบ่อแก้ว เพื่อบริการวิชาการให้กับชุมชนตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้โครงการเติมรักเติมใจผู้สูงอายุของสถานสงเคราะห์คนชราบ้านนิคมเขาบ่อแก้ว ชวนผู้สูงอายุที่นั่นใคร่ครวญและสำรวจความต้องการการดูแลในระยะท้ายของชีวิตตนเอง พร้อมรับมือกับความเจ็บป่วยและความตายผ่านการเขียนสมุดเบาใจ
“ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะพูดคล้ายๆ กันว่า สมุดเบาใจเล่มนี้ตอบโจทย์ชีวิตเขามาก และหลายคนระบุให้นำสมุดเบาใจนี้เก็บไว้ที่ ‘เรือนพยาบาล’ ของสถานสงเคราะห์ เพื่อวันหนึ่งหากเขาเจ็บป่วยและต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล ก็ให้เจ้าหน้าที่นำสมุดเบาใจนี้ไปพร้อมกับรถฉุกเฉินที่ส่งตัวเขาได้เลย
“หลังโครงการนั้นจบลง เราก็ยังพูดคุยกับนักสังคมสงเคราะห์ที่นั่นต่อว่า อยากจะขยายผลต่อไปยังกลุ่มผู้สูงอายุคนใหม่ๆ ที่เข้ามาในสถานสงเคราะห์ในช่วง 2-3 เดือนแรก เพราะเราเชื่อว่าคนกลุ่มนี้น่าจะมีภาวะเครียดจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงอยากนำ ‘ไพ่ฤดูฝน’ มาเล่นกับผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ก่อนจะให้ทุกคนเขียนสมุดเบาใจต่อไป โดยเราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราบ้านนิคมเขาบ่อแก้วทุกคนต้องมีสมุดเบาใจเป็นของตัวเอง”
สู่การเป็นครอบครัวเบาใจ
“เมื่อครั้งที่ทำงานเป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เรามีโอกาสได้คลุกคลีอยู่กับผู้ป่วยมากมาย เราได้เห็นความตายอยู่ตรงหน้าไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย คนมีตำแหน่งใหญ่โต คนป่วย คนแข็งแรง ฯลฯ ไม่มีใครหนีความตายได้พ้น ไม่ตายด้วยโรค ก็ต้องตายด้วยเหตุปัจจัยอื่นๆ
“วันหนึ่งจึงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ฉันเห็นความตายบ่อยขนาดนี้ หากคนในครอบครัวของฉันตาย ฉันจะร้องไห้ไหม? เราถามตัวเองโดยที่ยังไม่เข้าใจอะไรเลยและไม่มีคำตอบ จนวันที่เราได้มาทำงานที่ชุมชนเขาทอง ประสบการณ์ต่างๆ สอนให้เรารู้ว่า ความตายคือวัฏจักรของชีวิต เมื่อเราเข้าใจแล้ว การสูญเสียอาจจะทำให้เราร้องไห้ เสียใจ แต่เราก็จะไม่ฟูมฟาย เพราะเราเข้าใจ และยอมรับการสูญเสียและการจากไป
“ที่ผ่านมาเราจึงพยายามพูดเรื่องความตายกันในครอบครัวเหมือนเป็นเรื่องปกติ ครอบครัวเราจะคุยสอดแทรกเรื่องชีวิตและความตายกันบนโต๊ะอาหารหรือทุกที่ที่มีโอกาส แต่ก็ไม่เคยที่จะเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จนวันที่ได้รู้จักกับ ‘สมุดเบาใจ’ เมื่อสองปีก่อน เราจึงเอามานั่งเขียน และพบว่าจริงๆ แล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องในชีวิตที่เรายังค้างคา เช่น การบริจาคร่างกาย ฯลฯ
“พอมีโอกาสจึงขออนุญาตลูกๆ ไปบริจาคร่างกาย พอลูกทั้งสองได้ยินก็ร้องไห้เลย ด้วยความที่เขายังเด็กและไม่เข้าใจ แต่หลังจากอธิบายให้ฟัง ไม่นานนักเขาก็ยอมรับได้และเริ่มมีคำถามว่า หากคุณแม่ตาย ต้องโทรไปที่ไหน หรือทำอย่างไรต่อ ฯลฯ
“จะเห็นได้ว่า นอกจากจะทำให้เจตจำนงของเราหนักแน่นกว่าการสั่งเสียปากเปล่า เพราะมีลายลักษณ์อักษรซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ สมุดเบาใจยังช่วยทำให้คนรอบข้างได้เรียนรู้และค่อยๆ ยอมรับความตายของเราไปทีละนิด เชื่อว่าเมื่อวันที่เราจากไป ครอบครัวโดยเฉพาะลูกๆ ก็คงเสียใจ ร้องไห้แหละ แต่พวกเขาคงไม่ฟูมฟาย…”
ต้องการอ่านแบบ eFile