สร้างสุขจนสุดปลายทาง

ศักดิ์ดา จันทครู (ต๋อง)
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
วันที่สัมภาษณ์: 23 กุมภาพันธ์ 2567 และ 3 มีนาคม 2567
วันที่เผยแพร่: 24 พฤษภาคม 2567

เป้าหมายในการทำงานของศูนย์ฯ ทุกวันนี้ ก็คือการทำให้ผู้สูงอายุทุกคนได้อยู่สบาย และไปสู่การตายอย่างสงบ ไม่ทุกข์ทรมานในที่สุดค้างคาใจว่า เราทำพลาดไปไหม

ศักดิ์ดา จันทครู (ต๋อง) ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม (ศพส.นพ.) สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนและสานต่อโครงการ ‘สร้างสุขจนสุดปลายทาง’ เพื่อทำให้ความต้องการสุดท้ายของผู้สูงอายุทุกคนสมปรารถนาและนำไปสู่การปลดล็อกตะกอนใจ ก่อนจะจากไปอย่างสงบ  

“ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว อดีต ผอ.อรอุมา อินทฉาย ได้จัดทำและขับเคลื่อนโครงการ ‘สร้างสุขจนสุดปลายทาง’ โดยท่านนำองค์ความรู้ รวมถึงเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการ์ดแชร์กัน เกมไพ่ไขชีวิต รวมถึงสมุดเบาใจ ฯลฯ ตลอดจนเชิญทีมวิทยากรจาก Peaceful Death มาช่วยเสริมสร้างทักษะต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่ของศูนย์จัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ศูนย์ผู้สูงอายุ’ ทุกคนให้สามารถนำไปดูแลผู้สูงอายุมากกว่าทางกาย แต่สามารถดูแลลงลึกในมิติทางใจ”

สร้างสุข 5 ระยะ

“การดำเนินการภายใต้โครงการ ‘สร้างสุขจนสุดปลายทาง’ นั้นมีทั้งหมด 5 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เราจะวิเคราะห์และออกแบบกระบวนการที่จะทำให้คุณตาคุณยายสื่อสารได้ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ และนำไปสู่การอยู่สบาย ตายอย่างไม่ทุกข์ทรมาน 

ระยะที่ 2 คือ การสร้างทีมและปรับ Mindset โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ ผ่านการอบรมออนไลน์ เพื่อเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการฟัง ทักษะการสื่อสาร ทักษะการดูแลในวาระสุดท้ายของชีวิตของผู้สูงอายุ ฯลฯ 

ระยะที่ 3 การใช้แนวคิดในเรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชนและการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อวางแผนการดูแลผู้สูงอายุให้อยู่ดีและตายดี รวมถึงการสร้างความตระหนักในกลุ่มเจ้าหน้าที่ในเรื่องการดูแลคุณตาคุณยายตั้งแต่แรกรับเข้ามา จนกระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิต นั่นคือการลอยอังคารคุณตาคุณยาย และในระยะนี้จึงเกิด ‘ทีมสัปเหร่อบ้านนครพนม’ เพื่อจัดการกับข้อจำกัดด้านงบประมาณและบริบทของพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยงานดูแลหลังความตาย 

“เราได้รับความเมตตาจาก พระครูพิพัฒน์สิริโพธิ เจ้าอาวาสวัดป่าโพธิ์ศรี ตำบลท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ในการอบรมเรื่องพิธีกรรมหลังความตายให้กับเจ้าหน้าที่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำศพ แต่งตัว แต่งหน้าศพ จัดสถานที่ ลอยอังคาร ฯลฯ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพของผู้สูงอายุในศูนย์ฯ ได้เป็นอย่างดี 

“นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก พี่คิด (สมคิด ชัยจิตวนิช) และทีมงานของ ART Care มาช่วยอบรมการถ่ายภาพบุคคลให้กับเจ้าหน้าที่ ภายใต้กิจกรรม ‘ของขวัญชิ้นสุดท้ายในวันจากลา’ ซึ่งคุณตาคุณยายทุกคนจะได้รับภาพถ่ายสวยๆ จากฝีมือเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ เพื่อไว้ใช้ในงานศพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการเตรียม ‘ตายดี’ อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

“เราได้รับความเมตตาจาก หลวงพี่โก๋ (พระจิตร์ จิตฺตสํวโร) มูลนิธิร่มเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งท่านได้สนับสนุนทุนทรัพย์ในการปรับสภาพแวดล้อมเพดานในเรือนนอนผู้สูงอายุ ตามหลักศิลปะบำบัด ART Care  โดยการพ่นเพดานเรือนนอนทั้ง 4 เรือนนอนเป็นรูปท้องฟ้าสดใส โดยการกำกับและควบคุมงานของพี่คิด 

“ปัจจุบันหลวงพี่โก๋ ท่านเมตตาสนับสนุนทุนทรัพย์ในการปรับสภาพแวดล้อมเพดานในเรือนนอนผู้สูงอายุ หนังสือธรรมมะ สื่อ แผ่นภาพแคนวาส โปสเตอร์คำสอน คติธรรม ให้กับศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ  สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการขัดเกลาจิตใจของบุคลากรและคุณตาคุณยาย

 “เราได้รับความเมตตาเสมอมาจากคณะกรรมการมูลนิธิศรีโคตรบูร มูลนิธิผู้สูงอายุบ้านนครพนม และคุณพ่อ คุณแม่ นักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดนครพนม ชุมชนกรุณาบ้านผู้สูงอายุนครพนมที่พร้อมสนับสนุนทุนทรัพย์ คำแนะนำ กำลังกาย กำลังใจ พร้อมคำชื่นชมที่มอบเป็นรางวัลให้กับทีมงานเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ผู้สูงอายุนครพนม ให้มีพลังแรงใจในการทำงานต่อไป

“ระยะที่ 4 ขยายเครือข่ายสร้างชุมชนกรุณาผ่านการสื่อสารกิจกรรมภายใต้โครงการไปสู่สังคมภายนอกให้ได้รับรู้ เพื่อสร้างเครือข่ายต่างๆ ที่นำมาสู่การเป็นหุ้นส่วนทางสังคม เช่น เครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุ เครือข่ายชุมชนกรุณาบ้านผู้สูงอายุนครพนม เป็นต้น และสุดท้าย ระยะที่ 5 สร้างต้นแบบและขยายผลการดำเนินการ ผ่านการจัดกิจกรรมและการอบรมต่างๆ

“ปัจจุบัน โครงการสร้างสุขจนสุดปลายทางได้รับการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ และได้รับความเห็นชอบโดยวุฒิสภาให้เป็นแนวทางการดูแลผู้สูงอายุแบบประคับประคอง ซึ่งเป็นผลงานที่ ผอ.อรอุมาภาคภูมิใจและฝากฝังไว้ให้สานต่อ”

เบาใจที่ปลายทาง

“สมุดเบาใจถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนโครงการสร้างสุขจนสุดปลายทาง ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ในการสื่อสารเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่วงสุดท้ายของชีวิตระหว่างผู้สูงอายุกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์และคุณหมอที่ดูแลแล้ว สมุดเบาใจยังช่วยปลดล็อกตะกอนที่ติดค้างใจ เพื่อสุดท้ายท่านจะได้จากไปอย่างไม่มีห่วง กังวล และอีกแง่หนึ่งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตขณะที่ท่านยังมีลมหายใจ 

“สิ่งที่เราเห็นได้ชัด หลังจากนำสมุดเบาใจมาใช้กับผู้สูงอายุ ก็คือคุณตาคุณยายเริ่มพูดคุย สื่อสาร และกล้าบอกความต้องการของตัวเองมากขึ้น จากเดิมท่านรู้สึกถูกลูกหลานหรือครอบครัวทอดทิ้ง พอมาอยู่ที่นี่ก็มักจะเก็บตัว หลบหน้าหลบตา และไม่ค่อยพูดคุยกับใคร สมุดเบาใจจึงเข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือสื่อสาร สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้สูงอายุและผู้ดูแล รวมถึงแสดงเจตจำนงในวาระสุดท้ายของชีวิต

“ดังเช่นในเคสคุณยายท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง และเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ฯ เพราะลูกๆ ของท่านไม่สามารถจัดการดูแลท่านได้ด้วยข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังมีปัญหาความขัดแย้งและไม่ลงรอยกันของลูกๆ ทั้งสอง ทำให้แม้คุณยายจะปรารถนากลับไปอยู่กับลูก แต่ลูกก็ไม่สามารถทำตามความต้องการได้

“กระทั่งสุขภาพของคุณยายทรุดลงเรื่อยๆ และถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลด้วยอาการวิกฤต ทางศูนย์ฯจึงแจ้งไปยังลูกๆ ทั้งสอง และด้วยความที่ลูกชายอยู่ใกล้จึงมาถึงโรงพยาบาลก่อน ตอนนั้นทางคุณหมอก็ขอให้ตัดสินใจว่าจะยื้อชีวิตไหม แต่ลูกชายก็ไม่กล้า เพราะกลัวจะผิดใจกับน้องสาวยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่รู้ความต้องการของน้อง และแม้จะโทรไปหา น้องสาวก็ไม่ยอมรับสาย เขาจึงโทรเข้ามาที่ศูนย์ฯ และได้คุยกับทาง ผอ.อรอุมา

“ด้วยก่อนหน้านั้นคุณยายเคยทำสมุดเบาใจเอาไว้ ทาง ผอ.อรอุมา จึงเดินทางไปที่โรงพยาบาลและนำสมุดเบาใจเล่มนั้นไปให้กับคุณหมอ พอคุณหมอได้เห็นข้อความในสมุดเบาใจ ก็ดำเนินการตามที่คุณยายแสดงเจตจำนงเอาไว้ คือ ดูแลแบบประคับประคองตามอาการ ไม่ขอใส่เครื่องยื้อชีวิตใดๆ เพื่อการจากไปอย่างสงบ  

“หลังจากคุณยายเสียชีวิต ลูกชายก็จัดการงานศพให้ตามที่คุณยายระบุไว้ในสมุดเบาใจ จากนั้นก็ตัดสินใจบวชให้คุณยายเป็นครั้งสุดท้าย วันงาน ผอ.อรอุมาก็บอกกับลูกๆ ทั้งสองว่า ‘นอกจากสมุดเบาใจที่คุณยายฝากให้ดูแลแล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณยายฝากถึงคุณทั้งสอง ซึ่งไม่ได้แจ้งลงในสมุดเบาใจ แต่พี่จดทุกถ้อยคำในหัวใจ ก็คือคุณยายอยากให้คุณสองคนพี่น้องรักกัน นั่นเป็นคำขอสุดท้ายจากแม่ค่ะ’ 

“หลังประโยคนั้นจบลง เราเห็นทั้งคู่หันหน้ามาคุยกันดีๆ เป็นครั้งแรก ซึ่งเสียดายมากที่คุณยายไม่ได้เห็นภาพนี้ นี่เป็นเคสตัวอย่างที่ทำให้เรารู้ว่า ควรลงมือทำ ก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะเราไม่รู้เลยว่า พรุ่งนี้จะมีอยู่จริงไหม…”

ความตายก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนต้องเจอ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเลือกได้ เราทุกคนก็คงอยากจากไปอย่างสงบ ซึ่งสิ่งที่นำไปสู่จุดนั้นได้ก็คือการวางแผนไว้ล่วงหน้า และไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะต้องเจอความตาย แต่ไม่ว่าวัยไหน เพศใด ความตายมาถึงเราได้ทุกเมื่อ ฉะนั้น หากเราสามารถบรรจุ ‘สมุดเบาใจ’ ลงไปในหลักสูตรการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยได้ ความตายจะไม่น่ากลัวเลย

สุภัตรา จำปาพันธ์ (เปเป้) นักสังคมสงเคราะห์ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จังหวัดนครพนม (ศพส.นพ.) สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อีกหนึ่งกำลังสำคัญที่นำ ‘ศูนย์จัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ’ ก้าวไปสู่การเป็นพื้นที่แห่งการอยู่ดีและตายดีของผู้สูงอายุ

“สิ่งหนึ่งทำให้เรายังคงทำงานนี้ได้ แม้เวลาผ่านมากว่า 17 ปีแล้ว ก็คือรอยยิ้มของคุณตาคุณยาย เนื่องจากผู้สูงอายุที่มาอยู่ที่นี่ทุกคนล้วนประสบปัญหามาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ฯลฯ ผู้สูงอายุบางคนถูกผลักไสออกจากชุมชน บางคนถูกครอบครัวทอดทิ้ง ทำให้หลายๆ คน นอกจากจะต้องปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ สถานที่ใหม่ๆ และผู้คนใหม่ๆ แล้ว พวกเขายังต้องต่อสู้กับความรู้สึกที่ค้างคาในใจ

“นี่เองจึงเป็นที่มาของกิจกรรมที่มีชื่อว่า ‘สมปรารถนา’ ซึ่งริเริ่มขึ้นโดย ผอ.อรอุมา โดยใช้ ‘เกมไพ่ไขชีวิต’ เป็นเครื่องมือในการค้นหาสิ่งที่ติดค้างคาใจหรือสิ่งที่ผู้สูงอายุอยากทำก่อนตาย อีกหนึ่งกิจกรรมที่เราเชื่อว่าจะนำไปสู่การอยู่ดีและตายดีของผู้สูงอายุในศูนย์ฯ

“ยกตัวอย่างคุณตาท่านหนึ่งซึ่งพิการดวงตาและอาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯ มานานนับสิบปี วันหนึ่งท่านก็บอกกับเราว่า ‘อยากกลับบ้านที่อำนาจเจริญ’ เพราะอยากกลับไปหาพ่อซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่นั่น เราจึงติดต่อประสานไปยังพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญเพื่อสืบหาข้อมูลให้ ปรากฏว่า ‘หลวงพ่อ’ มรณภาพไปแล้วกว่า 43 ปี แต่คุณตาก็ไม่ละความตั้งใจ ขอให้เราพาไปกราบอัฐิของหลวงพ่อ “ผอ.อรอุมาจึงพาท่านเดินทางไปที่นั่น จนได้พบกับเจ้าอาวาสวัดคนปัจจุบัน ซึ่งพาคุณตาไปกราบอัฐิหลวงพ่อที่บรรจุไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เนื่องจากหลวงพ่อของคุณตานั้นเป็นอดีตเจ้าอาวาสของวัดนี้ หลังจากกลับมาก็เหมือนคุณตาได้ปลดล็อกสิ่งที่ค้างคาในใจมานาน ท่านใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และไม่เคยบ่นอยากกลับบ้านอีกเลย กระทั่งทุกวันนี้ท่านก็ยังอยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ นี่เป็นหนึ่งในเคสของกิจกรรม ‘สมปรารถนา’ ที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีไม่น้อยที่ยังไม่สมปรารถนา รวมถึงอีกหลายๆ เคสที่ยังรอจังหวะ เวลาและเงินทุนสนับสนุน”

  

ต้องการอ่านแบบ eFile

Download PDF

เรื่องเล่าสมุดเบาใจอื่นๆ

Message us