สิทธิในวาระสุดท้าย

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
วันที่สัมภาษณ์: 18 เมษายน 2567
วันที่เผยแพร่: 26 เมษายน 2567

เราเกิดมาพร้อมกับความเชื่อที่ว่าทุกคนบนโลกใบนี้มีสิทธิที่จะเลือกทางเดินชีวิตตัวเองได้ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายมาถึง ทุกคนล้วนมีสิทธิเลือกที่จะไม่ทุกข์ทรมานหากไม่ต้องการ

มุมมองต่อสิทธิในลมหายใจสุดท้ายที่ควรเลือกได้ของ เจี๊ยบ-อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล และกรรมการบริหารพรรค นักการเมืองหญิงที่ให้ความสนใจประเด็นที่เกี่ยวกับการจบชีวิตแบบ ‘การุณยฆาต’ หนึ่งในการใช้สิทธิในการตาย (Right to Die) ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายในหลายประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เบลเยียม แคนาดา รวมถึงญี่ปุ่น

“ชีวิตของคนเรานั้นล้วนมีวัน expire หรือวันหมดอายุของตัวเองทุกคน การตายเกิดมาคู่กับการเกิด เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ทุกคนรู้กันดี และตลอดชีวิตที่ผ่านมาเราก็มีโอกาสเห็นความทุกข์ทรมานในผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิด ญาติพี่น้อง ไปจนถึงคนในสื่อต่างๆ ที่ออกมาขอเรี่ยไรค่ารักษาพยาบาลกันไม่เว้นแต่ละวัน

“เหล่านี้ทำให้เห็นว่า ปัญหาความเจ็บป่วยนั้นไม่ได้แค่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาให้กับคนในครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่เป็นภาระทำให้หลายๆ ครอบครัวสิ้นเนื้อประดาตัว เงินเก็บทั้งหมดที่มีต้องเอาไปจ่ายให้กับโรงพยาบาลเพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วย โดยที่หลายๆ ครั้งผู้ป่วยก็ไม่ได้ต้องการด้วยซ้ำ

“นี่เองที่ทำให้เห็นด้วยกับกฎหมายก้าวหน้าอย่าง ‘การุณยฆาต’ และพยายามผลักดันให้สังคมหันมาสนใจและพูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น โดยหวังลึกๆ ว่า อย่างน้อยก็มาถกเถียงกันในประเด็นนี้บ้างก็ยังดี เพื่อมีพื้นที่ในการตกผลึกร่วมกัน เพราะนอกจากเรื่องความเชื่อทางศาสนาที่เป็นเหมือนอุปสรรคใหญ่แล้ว คนในสังคมไทยโดยทั่วไปนั้นยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้น้อยมาก มันจึงเกิดการต่อต้าน ไม่ค่อยราบรื่นเท่าไร และหนทางสำหรับการการุณยฆาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายในเมืองไทยคงจะอีกยาวไกล แต่ก็นั่นละ! ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้น

“ตอนนี้ก็เพียงรอให้สังคมขับเคลื่อนไปสักพักหนึ่ง คิดว่าค่านิยมและแนวคิดของสังคมเรื่องความตายจะค่อยๆ เปลี่ยนไป ปล่อยให้คนที่มีความเชื่อแบบเก่าค่อยๆ ล้มหายตายจากไป คนเจเนอเรชันใหม่ๆ เกิดขึ้นมา แล้ววันนั้นค่อยกลับมาคุยเรื่องนี้กันอีกครั้งก็ยังไม่สาย และอย่างน้อยวันนี้ก็มี ‘สมุดเบาใจ’ ที่ช่วยนำร่องในเรื่องนี้อีกแรง (ยิ้ม)”

เบาใจในครั้งแรก

“สารภาพตามตรงว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้จัก Peaceful Death เลย จนได้มาทำหน้าที่เป็น ส.ส. พรรคก้าวไกล ด้วยความที่สนใจเรื่องกฎหมายการุณยฆาตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อีกทั้งพรรคก็ยังบรรจุเรื่องนี้หรือสิทธิที่จะเสียชีวิตนี้เป็นหนึ่งใน 300 นโยบายของพรรคด้วย ก็ยิ่งทำให้สนใจหนักขึ้นไปอีก กอปรกับช่วงนั้นมีโอกาสได้รู้จัก ‘สมุดเบาใจ’ ในฐานะสมุดเพื่อการวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้าผ่านทางโซเชียล ก็ยิ่งรู้สึก เฮ้ย! เมืองไทยมีเรื่องนี้ด้วยเหรอ และเมื่อรู้ว่าเป็นสมุดที่ได้รับการสนับสนุนโดยองค์กรของภาครัฐ ก็คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ยิ่งเกิดความ เอ๊ะ! ขึ้นมาจึงบอกให้ลูกสาวช่วยสั่งซื้อสมุดเบาใจมาให้ 20 เล่ม 

“ไม่นานนักสมุดเบาใจก็ถูกส่งมาถึงบ้าน ครั้งแรกที่ได้สัมผัสก็รู้สึกได้ถึงความเบา สบาย ด้วยรูปเล่มที่มีขนาดกะทัดรัด บรรจุเนื้อหาไว้เพียง 12 หน้า ทำให้พกพาสะดวก ยิ่งได้อ่านเนื้อหาทั้งหมดแล้วก็ยิ่งชอบ เพราะใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย บางช่วงมีการไกด์คำตอบมาให้ ก็สามารถติ๊กเครื่องหมายถูกเพื่อเลือกคำตอบได้เลย 

“นี่คือสมุดที่มีประโยชน์สำหรับทุกคนและทุกครอบครัวจริงๆ เพราะนอกจากเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนล่วงหน้าในสิ่งที่มนุษย์ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ที่สำคัญสมุดเบาใจยังช่วยลดความขัดแย้งในครอบครัวได้เป็นอย่างดี ป้องกันการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างลูกๆ หลานๆ หรือคนที่อยู่ข้างหลังในการจัดการสิ่งต่างๆ หลังจากที่เราจากไปหรืออยู่ในภาวะวิกฤตที่ไม่สามารถสื่อสารได้แล้ว”

ของขวัญจากสมุดเบาใจ

“โดยส่วนตัวมองว่า คนเราควรวางแผนชีวิตให้ครบลูป (loop) ทั้งเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย และสมุดเบาใจก็เป็นสมุดสำหรับการวางแผนการดูแลสุขภาพในช่วงสุดท้ายของชีวิต หากใครมีไว้ก็เป็นประโยชน์แน่นอน ยิ่งในปัจจุบันค่านิยมในสังคมไทยเปลี่ยนไป จนคนส่วนใหญ่ไม่ได้ถือว่าความตายเป็นเรื่องอัปมงคลอีกแล้ว หลายคนจัดการงานศพของตัวเองไว้ล่วงหน้าด้วยซ้ำ บางคนเลือกภาพหน้าศพไว้แล้วก็มี นี่เองที่ทำให้สมุดเบาใจน่าจะเหมาะที่จะเป็นของขวัญ ของฝาก ของที่ระลึก สำหรับคนที่เรารักในเทศกาลต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

“ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาดีๆ เราจะพบว่าสมุดเบาใจยังมีประโยชน์เป็นเครื่องเตือนใจให้คิดถึงความตายอยู่เสมอ สมุดเบาใจช่วยให้คนเรามองเห็นสัจธรรมเรื่องความตาย และเปิดใจยอมรับธรรมชาติของชีวิตได้มากขึ้น เมื่อมีมุมมองต่อชีวิตก้าวหน้าขึ้น แน่นอนว่าค่านิยมในสังคมก็ย่อมก้าวหน้ามากขึ้นเช่นกัน

 “เพราะทุกวันนี้ มีผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจทั้งหลาย มักจะทำเหมือนว่าตัวเองจะอยู่ค้ำฟ้า…ไม่มีวันตาย พอมีอำนาจ มีลาภยศ มีตำแหน่งหน่อยก็เอาแต่กอบโกย เหมือนจะมีชีวิตอยู่ไปอีก 100-200 ปี ทำให้สังคมนี้กลายเป็นสังคมที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา 

“แต่ถ้าเมื่อไรที่เราทุกคนยอมรับว่า ชีวิตคนเรามีวันหมดอายุ เชื่อว่าความคิดและพฤติกรรมคนก็อาจจะเปลี่ยนไป ความเห็นแก่ตัวก็จะลดน้อยลง ปัญหาสังคมก็อาจจะลดน้อยลง และความเข้าใจ เห็นใจเพื่อนร่วมสังคมก็จะมีมากขึ้น เพราะทุกคนล้วนตระหนักดีว่า ตัวเองมาอยู่บนโลกใบนี้…ด้วยเวลาที่จำกัด”

ความหมายของการมีชีวิต

“ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราเชื่อเสมอว่า ชีวิตที่มีคุณค่าคือชีวิตที่ได้ทำประโยชน์ ฉะนั้นหากวันใดที่ชีวิตที่ทำประโยชน์อะไรไม่ได้แล้ว แม้แต่จะสื่อสารหรือทำกิจกรรมพื้นฐานต่างๆ ก็ยังทำไม่ได้ คงจะไม่มีคุณค่าอะไร และไม่มีเหตุผลใดที่ต้องอยู่ต่อไปให้เป็นภาระคนอื่น 

“ยังมีคนอีกมากมายที่เขาไม่ได้ต้องการถูกยื้อให้ทรมาน หรือต้องต่อท่อนั่น สอดท่อนี่ หรือเจาะคอ รวมถึงเขาไม่ได้ต้องการให้เงินที่ทำมาทั้งชีวิตซึ่งหวังจะส่งมอบให้ลูกหลานมาหมดไปกับการรักษาตัวเขาเอง แต่แน่นอนว่าหากไม่มีการเตรียมการหรือวางแผนในวาระสุดท้ายของชีวิตไว้อย่างรอบคอบ ถึงวันนั้นเขาอาจจะพูดอะไรไม่ได้แล้ว จะสื่อสารยับยั้งอะไรก็ไม่ได้แล้ว เพราะเขาไม่ได้แสดงเจตจำนงไว้ก่อนหน้านั้น ในขณะที่ลูกหลานเองก็กลัวจะโดนประณาม หากไม่รักษาจนถึงที่สุด แม้จะหมดเนื้อหมดตัวก็จำต้องยอม 

“จากปัญหาครอบครัว สู่ปัญหาเศรษฐกิจ และสุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด นี่เองที่ทำให้เราได้เห็นถึงคุณประโยชน์ของ ‘สมุดเบาใจ’ ที่ทำให้เราตระหนักได้ว่า เราไม่ควรจะคิดถึงเรื่องความตาย…ตอนที่เราใกล้ตาย อย่าปล่อยให้โคม่าก่อนแล้วค่อยมาพูดกัน แต่ความตายที่มีการวางแผนล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ดีกว่า ราบรื่นกว่า เรียบร้อยกว่า และไม่เป็นภาระกับคนที่ยังอยู่” 

ภาพสุดท้ายที่คิดไว้

“เป็นเรื่องจำเป็นนะที่ทุกครอบครัวควรพูดคุยกันถึงเรื่องวาระสุดท้ายของชีวิต อย่างครอบครัวเราเองก็มีการพูดถึงเรื่องนี้กันเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว และโดยส่วนตัวก็จะสั่งลูกๆ ทุกคนไว้ก่อนที่จะรู้จักกับสมุดเบาใจแล้วว่า ถ้าถึงวันที่แม่โคม่า ไม่ต้องยื้อชีวิตหรือใช้เครื่องมือใดๆ นะ แค่รักษาแบบประคับประคองไปก็พอ เพราะเรารู้สึกว่า ถ้าเราไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพแล้ว เช่น พูดกับใครก็ไม่ได้ สื่อสารกับใครก็ไม่ได้ ดูแลตัวเองก็ไม่ได้ ฯลฯ เราก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เราไม่อยากตายทั้งเป็น ที่สำคัญที่สุดคือไม่อยากให้ตัวเองเป็นภาระกับใครใดๆ ทั้งสิ้น

“เราอยากจากไปแบบสวยๆ นะ (ยิ้ม) อยากจากไปอย่างสง่างาม และถูกจดจำหรือระลึกถึงแต่ในสิ่งดีๆ เราไม่อยากให้ลูกหลานจดจำเราในแบบที่…แม่ป่วยทีพาครอบครัวสิ้นเนื้อประดาตัว หรือ เป็นต้นเหตุให้ลูกต้องลาออกจากงานที่รักเพื่อมานั่งพลิกตัวเราไปมา

“ทุกวันนี้เราจึงพยายามจัดการทุกอย่างให้เสร็จสิ้น ทั้งเอกสารเรื่องการเงิน มรดกพื้นฐาน ฯลฯ และเตรียมเงินไว้สักก้อนสำหรับจ้างเจ้าหน้าที่จากสถานพยาบาลเพื่อดูแลเราในวันที่เราอาจจะป่วยติดเตียง ถ้าวันนั้นเมืองไทยยังไม่มีกฎหมายการุณยฆาต (ยิ้ม)”

ต้องการอ่านแบบ eFile

Download PDF

เรื่องเล่าสมุดเบาใจอื่นๆ

Message us