ของขวัญจากงานศพ

ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ (อาจารย์คุ้ง)
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
วันที่สัมภาษณ์: 9 มีนาคม 2567
วันที่เผยแพร่: 12 เมษายน 2567

สุดท้ายแล้ว เรื่องความตายก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นโดยปกติ ธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงไม่ได้แทนที่เราจะหลีกหนีการเตรียมการด้วยความกลัวเราลองตั้งสติและจัดการเรื่องนี้ล่วงหน้าผมคิดว่านั่นจะทำให้เราเบาใจและเป็นประโยชน์กับเราได้ในระยะยาว

มุมมองต่อความตายของ ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ (อาจารย์คุ้ง) สถาปนิกชุมชนและอาจารย์ประจำหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สถาบันอาศรมศิลป์ หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของ ‘สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อมอาศรมศิลป์’ องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่นำความรู้ไปบริการสังคม แหล่งกำเนิดโครงการดีๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘วัดบันดาลใจ’ โครงการพลิกฟื้นวัดให้กลับมาเป็นศูนย์รวมจิตใจคนในสังคมเหมือนก่อน, ‘ธนบุรีมีคลอง’ โครงการฟื้นฟูคลองฝั่งธนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เป็นต้น

 สองปีก่อนอาจารย์คุ้งมีโอกาสไปร่วมงานศพของคุณพ่อเพื่อนรุ่นพี่ที่สนิท และได้รับ ‘สมุดเบาใจ’ เป็นของที่ระลึก นั่นเองกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวเบาใจในวันที่ชีวิตเขาต้องเผชิญเหตุการณ์แสนหนัก…

“ด้วยความที่เราอยู่ในแวดวงที่พอจะรู้ข่าวความเคลื่อนไหวของสมุดเบาใจพอสมควร เคยผ่านตา เคยได้ยินชื่อของสมุดเบาใจจากคนรู้จักอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เคยได้เปิดอ่าน และแม้จะเป็นเรื่องที่เราสนใจแต่ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้ลองทำ กระทั่งได้ไปร่วมงานศพของคุณพ่อ พี่เม้ง (ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์) และได้สมุดเบาใจเป็นของชำร่วย จึงได้เปิดอ่านและทำความรู้จักกับสมุดเบาใจอย่างจริงๆ จังๆ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับช่วงนั้นคุณแม่ของผมเองกำลังป่วยเป็นมะเร็งสมอง และนั่นทำให้ความตั้งใจแรกของผมคือการนำสมุดเบาใจเล่มนี้กลับไปชวนคุณแม่ทบทวนเจตนารมณ์ที่เคยพูดไว้”

ทบทวนเจตนารมณ์

“หลายปีก่อน ขณะที่สุขภาพคุณแม่ยังปกติดี มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน จำได้ว่าท่านมีโอกาสไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ซึ่งป่วยติดเตียงท่านหนึ่ง พอกลับมาบ้านก็เปรยๆ กับผมไว้ว่า หากท่านเป็นอะไรไป ไม่ต้องยื้อไว้ หรือใส่ท่อใดๆ ที่ต้องแยงเข้าไปในร่างกาย เพราะท่านไม่อยากทรมานและไม่อยากให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตอยู่ในสภาพนั้น โดยครั้งนั้นผมก็เพียงแค่รับฟัง 

“กระทั่งช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คุณแม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมองชนิดรุนแรง ทันทีที่ท่านรับรู้ ผมสังเกตเห็นแววตาเศร้าซึมของท่านเพียงแค่ช่วงสั้นๆ ก่อนจะตั้งมั่นเข้ารับการรักษาอย่างเต็มที่ จนเดือนตุลาคม 2565 ก้อนเนื้อในสมองหายไป โรคสงบลง ครอบครัวของเรากลับมามีความสุขอีกครั้ง

“ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เราทุกคนสังเกตเห็นอาการหลงๆ ลืมๆ ของคุณแม่ และกลับไปปรึกษาคุณหมออีกครั้ง หลังจากการตรวจ MRI และไม่พบรอยโรคแต่อย่างใด คุณหมอจึงวินิจฉัยว่าอาจจะเป็นผลข้างเคียงจากการฉายแสงที่ผ่านมา แต่แล้วอาการของคุณแม่ก็ทรุดลงอย่างรวดเร็ว ประมาณกลางเดือน เมษายน ผลตรวจ MRI พบก้อนเนื้อกระจายตัวทั่วสมองซีกขวา เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าโรคมะเร็งกลับมาอีกครั้ง และครั้งนี้มีการกระจายตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการรักษาได้ผลเพียงระยะสั้นๆ

“ในขณะที่การสื่อสารของคุณแม่ก็เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ ผมจึงคิดว่าเราควรเตรียมการเรื่องนี้ไว้สักหน่อยหรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรจะทบทวนสิ่งที่คุณแม่เคยพูดไว้เมื่อนานมาแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าท่านหมายความตามนั้นจริงๆ โชคดีมากที่ช่วงนั้นคุณหมอเริ่มให้ยาลดอาการบวมของสมอง ทำให้คุณแม่กลับมามีสติสัมปชัญญะดีขึ้น ผมจึงใช้โอกาสนั้นชวนคุณแม่ทำสมุดเบาใจ โดยผมทำหน้าที่ชวนคุณแม่คุยและเขียนบันทึกไว้ในสมุด ขณะที่คุณพ่อ พี่สาว และภรรยาของผมเป็นผู้ร่วมรับฟัง   

“ด้วยอาการของโรคที่ส่งผลให้การสื่อสารของคุณแม่ช้ากว่าปกติ ทำให้การทำสมุดเบาใจครั้งนั้นใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องค่อยๆ คุยและให้เวลาคุณแม่คิดสักพัก ก่อนจะค่อยๆ ตอบออกมา และผมเองก็จะคัดเฉพาะคำถามที่จำเป็น โดยหลายๆ ข้อ คุณแม่ก็จะมอบหมายให้ผมและครอบครัวเป็นผู้ตัดสินใจ แต่หนึ่งในคำถามที่ผมและทุกคนในครอบครัวอยากรู้ที่สุดก็คือ ความต้องการเมื่อเข้าสู่วิกฤตช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งคุณแม่ก็ยังคงยืนยันเหมือนที่เคยพูดไว้ นั่นทำให้ทุกคนในครอบครัวเข้าใจและรับรู้ไปพร้อมๆ กันว่า คุณแม่ไม่ต้องการให้ยื้อชีวิต และประสงค์ที่จะเสียชีวิตที่บ้านท่ามกลางครอบครัวที่ท่านรัก

ใจเบาก่อนเบาใจ

“ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้สึกว่าการทำสมุดเบาใจเป็นเรื่องยาก ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมใจอย่างไร หรือวางใจอย่างไร สำหรับผมแล้ว ผมจะใช้การภาวนาและวางใจให้เป็นปกติ คุยอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เศร้า ไม่สุข เลือกใช้ภาษาง่ายๆ ถ้อยคำสบายๆ เพื่อทำให้คุณแม่และทุกคนในครอบครัวรู้สึกว่า การคุยครั้งนี้เป็นการคุยกันธรรมดาๆ

“ผมรู้สึกว่า การเตรียมใจหรือวางใจเป็นประโยชน์มากในการทำสมุดเบาใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำด้วยตัวเอง ผู้ถาม หรือผู้ชวนผู้ป่วยทำ การเตรียมใจ วางใจ วางท่าที มีส่วนสำคัญ และหากสมุดเบาใจมีคำแนะนำในเชิงการเตรียม ‘ข้างใน’ สำหรับคนที่จะทำหรือคนที่จะชวนคนอื่นทำ เช่น เทคนิคการทำภาวนาเบื้องต้น ฯลฯ การทำสมุดเบาใจก็อาจจะง่ายขึ้น เพราะจริงๆ แล้วการทำสมุดเบาใจนั้นไม่ใช่แค่เรื่องการเตรียมความคิด แต่เราสามารถทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการภาวนาเพื่อกลับมาดูสภาวะจิตภายในของเราได้

 “ยกตัวอย่างคำถามที่ว่า อะไรคือสิ่งที่ภูมิใจในชีวิต คำตอบของคุณแม่ตอนนั้นก็คือ การที่สามารถเลี้ยงลูกให้เติบโตมาเป็นลูกที่ดีได้ทั้งสองคน หรือคำถามเกี่ยวกับ นิสัยใจคอ ท่านก็มองตัวเองว่า เป็นคนจิตใจดี ยอมคน ทั้งๆ ที่ภาพลักษณ์ของคุณแม่นั้น ใครๆ ก็ต่างมองว่าท่านเป็นผู้หญิงสู้คน ไม่ยอมใคร (ยิ้ม) “แต่ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นอาจจะเป็นแค่เปลือกที่ท่านสร้างขึ้นเพื่อปกป้องตัวเอง หรือจริงๆ แล้วท่านอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณเมื่อเข้าใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต ท่านจึงมองตัวเองแบบนั้น และอยากให้คนจดจำท่านในแบบนั้น นั่นก็ทำให้เราย้อนกลับมาดูตัวเองเหมือนกันว่า หากเป็นเรา เราจะมองตัวเองแบบไหน และอยากให้โลกจดจำเราอย่างไร…”

วาระสุดท้ายเลือกได้

“ในช่วงสุดท้ายของชีวิต คุณแม่ได้กลับมาอยู่ที่คอนโดของพี่สาว เนื่องจากเป็นสถานที่ที่สะดวกในการดูแลแบบประคับประคอง และสามารถจัดให้ท่านนอนอยู่ใกล้หน้าต่าง ซึ่งมีพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นวิวที่ท่านสามารถมองเห็นได้ง่ายๆ เพราะเราหวังว่านั่นจะเป็นวัตถุธรรมให้จิตของคุณแม่ได้ระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านเคยทำมา

 “นอกจากนี้ ผมยังนำภาพเจ้าแม่กวนอิมจากบ้านเดิม ซึ่งคุณแม่จะกราบไหว้เป็นประจำมาติดไว้ใกล้ๆ ขณะที่คุณพ่อเองก็จะหาบทสวดต่างๆ มาเปิดคลอไปเบาๆ ทั้งวัน ทุกคนพยายามสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้คุณแม่สงบ สบาย และนึกถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ง่ายๆ

  “กระทั่ง 3 วันสุดท้ายหลังจากคุณแม่เริ่มปฏิเสธอาหารและน้ำ ทุกคนก็พอจะรู้แล้วว่า น่าจะถึงเวลาแล้ว ผมจึงขอลางานเพื่อมาอยู่ดูแลท่านพร้อมกับครอบครัว และอ่านหนังสือ ‘ประตูสู่สภาวะใหม่’*  ซึ่งพูดถึงการเตรียมตัวตายและช่วยเหลือผู้ใกล้ตาย ผลงานแปลของหลวงพ่อไพศาล วิสาโล ให้คุณแม่ฟังไปเรื่อยๆ ระหว่างที่อ่านไป ผมเองก็ได้ฝึกและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับท่าน”

หมายเหตุ :  แปลจาก ‘The Tibetan Book of Living and Dying’ งานเขียนของโซเกียล รินโปเช (Sogyal Rinpoche)

สภาวะจิตคนชิดใกล้

“ผมมองว่าสภาวะจิตใจผู้ใกล้ชิดของผู้ที่จะจากไปนั้นสำคัญมาก อย่างคุณแม่ผมเป็นมะเร็งในสมอง ซึ่งก้อนเนื้อในสมองจะส่งผลให้การทำงานของระบบสื่อประสาทและการส่งสัญญาณต่างๆ ผิดปกติ ในวาระสุดท้ายก่อนที่ท่านจะสิ้นใจ ท่านจึงมีอาการชัก โดยอาการชักนี้เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งก่อนที่จะรู้ว่าเป็นมะเร็งสมอง และผมรู้สึกว่าตอนนั้นทั้งผมและทุกคนในครอบครัวตกใจกันมาก พอรู้ว่าช่วงสุดท้ายของคุณแม่จะกลับมามีอาการนี้อีก ผมเองก็พยายามเตรียมใจให้อยู่ในสภาวะปกติที่สุด และพยายามจะประคองจิตตัวเองในช่วงสุดท้ายให้ดีที่สุด

“กระทั่งในคืนวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม 2566 นาทีสุดท้ายก่อนที่คุณแม่จะจากไป ท่ามกลางทุกคนในครอบครัวที่มาร่วมส่งท่านอย่างพร้อมหน้า ผมกระซิบข้างหูคุณแม่ด้วยประโยคที่ได้มาจากหนังสือประตูสู่สภาวะใหม่ว่า ‘จิตของหม่าม้าและจิตของพระพุทธองค์เป็นหนึ่งเดียวกัน’ โดยหวังว่าประโยคนี้จะหนุนนำให้ท่านได้เดินทางไปสู่ภพภูมิที่ดีๆ และก้าวเข้าสู่จุดหมายปลายทางอันสงบเย็นต่อไป”

ส่งต่อความเบาใจ

“ด้วยความที่ผมและครอบครัวได้เห็นถึงประโยชน์ของ ‘สมุดเบาใจ’ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเลือกสมุดเบาใจมาเป็นของชำร่วยแจกจ่ายไปยังญาติสนิทมิตรสหายที่มาร่วมงานคุณแม่ โดยหวังว่าผู้ที่ได้รับไปจะได้ใช้ประโยชน์จากสมุดเล่มนี้ หรืออย่างน้อยการจากลาที่มีการวางแผนและเตรียมตัวมาแล้ว น่าจะทำให้งานศพไม่ใช่แค่งานแห่งความโศกเศร้าอย่างที่เคยเป็นมา

“สำหรับผม งานศพเป็นเสมือนงานแห่งการเตือนสติ เพราะในแง่ความหมายของงานศพเอง มันทำให้ผู้ที่มาร่วมงานได้มีโอกาสที่จะทบทวนความหมายของชีวิตและเตรียมตัวจัดการชีวิตของตัวเองให้ดีที่สุดด้วย หรือในทางธรรมจะใช้คำว่า ‘การเจริญมรณานุสติ’ หรือการระลึกถึงความตาย งานศพจึงถือเป็นโอกาสในการทำความเข้าใจธรรมชาติของชีวิต ยอมรับ และกลับไปจัดการเตรียมการให้เหมาะสม

“ขณะเดียวกันงานศพถือเป็นงานที่เต็มไปด้วยความรัก ความผูกพันของคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท และคนใกล้ชิดที่ต่างพากันมาช่วยเหลือกันในเวลาที่มีความทุกข์ ความสูญเสีย พวกเขาพร้อมใจกันมาช่วยดูแล ประคับประคองกัน ทำให้ในแง่หนึ่งงานศพจึงไม่ใช่แค่พิธีกรรมหรือพิธีการ แต่มันคือโอกาสสำคัญที่เราจะแสดงความขอบคุณหรือการระลึกถึงกัน ทั้งกับผู้ที่จากไปและผู้ใกล้ชิดของผู้ที่สูญเสีย อย่างในงานศพคุณแม่นี้ ผมได้เจอเพื่อนสมัยประถมที่ไม่คิดว่าจะได้เจอ แต่พอเขารู้ข่าวก็ตั้งใจมา ผมรู้สึกว่านี่คือการเติมพลังชีวิตให้กัน เป็นพลังทางความสัมพันธ์ที่ช่วยประคองในจุดที่สูญหายไป

บทสรุปของชีวิตที่ดี

“สมุดเบาใจทำให้การเตรียมตัวในภาวะสุดท้ายของชีวิตไม่ใช่เรื่องหนัก หรือไม่ใช่เรื่องทุกข์หนักหรือทุกข์ยาก แต่สมุดเบาใจทำให้ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมดา เป็นความเบาสบาย โดยเฉพาะประโยคว่า ‘เพื่อการวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้า’ ที่ใช้ในเล่ม ทำให้รู้สึกว่า การตายไม่ใช่สิ่งที่ตรงกันข้ามกับการมีสุขภาพที่ดี แต่การตายก็เป็นส่วนหนึ่งของการมีสุขภาวะที่ดี และการตายดีก็เป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตที่ดี 

“เช่นเดียวกันกับความคิดของผมที่รู้สึกว่า การตายดีคือบทสรุปของการมีชีวิตที่ดี เพราะจริงๆ แล้วชีวิตคนเรานั้นไม่ใช่ระบบปิด ชีวิตไม่ใช่แค่ของเราเพียงคนเดียว เราไม่ได้อยู่ด้วยตัวเราเท่านั้น แต่ชีวิตเราเป็นส่วนหนึ่งและมีความเกี่ยวเนื่องกับสิ่งอื่นๆ ฉะนั้น คำว่า ‘ตายก่อนตาย’ หรือการฝึกที่จะวางทุกขณะระหว่างการใช้ชีวิต ผมรู้สึกว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เราใช้ชีวิตโดยที่เราตระหนักหรือมีสติรู้ว่า ตัวเราเองไม่ใช่ปัจเจก แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งอื่นๆ ร่วมกัน

“ในความหมายของการมีชีวิตที่ดีของผมนั้นจึงเป็นการใช้ชีวิตโดยที่เรารู้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และการตายดีก็คือการทำอย่างไรก็ได้ให้การจากไปของเราอยู่ในสภาวะเบา สบาย กลืนไปกับธรรมชาติ นั่นจึงถือว่าเป็นการตายดี ซึ่งเป็นบทสรุปของการมีชีวิตที่ดี ชีวิตที่สมบูรณ์โดยตัวมันเอง…”

ต้องการอ่านแบบ eFile

Download PDF

เรื่องเล่าสมุดเบาใจอื่นๆ

Message us