ผลประกอบการชีวิต

ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
วันที่สัมภาษณ์: 12 กุมภาพันธ์ 2567
วันที่เผยแพร่: 26 เมษายน 2567

หลังพ่อจากไป มุมมองความตายของผมก็ไม่เหมือนเดิมผมพบว่าความตายนั้นเรียบง่ายและสงบในตัวมันเอง ความตายไม่ได้น่ากลัว แต่ที่น่ากลัวคือก่อนและหลังความตาย

เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ชูใจ กะ กัลยาณมิตร’ ครีเอทีฟเอเจนซี่โฆษณาเพื่อสังคม เจ้าของผลงานทรงพลังและสร้างแรงบันดาลใจมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ ตาย ก่อน ตาย Live Exhibition : งานศพซ้อมตาย ‘นิ้วกลม’ และ Happy Deathday แคมเปญโปรโมต ‘สมุดเบาใจ’ ที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอจำกันได้

กัลยาณมิตร

“งานต่างๆ ที่เข้ามาทำให้เราได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ เพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตรจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ, เครือข่ายพุทธิกา และองค์กรที่ทำประโยชน์ให้สังคมต่างๆ มากมาย รวมถึง Peaceful Death ซึ่งก็ตรงกับคอนเซ็ปต์ ชูใจ กะ กัลยาณมิตรจริงๆ คือ เราดูแลงานให้กัลยาณมิตร กัลยาณมิตรก็ดูแลเราในหลายๆ เรื่อง ไม่เว้นแม้เรื่องความตายของคนในครอบครัว

“ย้อนหลังกลับไปราวสิบปีก่อน ป๊าของผมจำเป็นต้องผ่าตัดหัวใจครั้งใหญ่ เนื่องมาจากเส้นเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น ผลข้างเคียงจากโรคเบาหวานที่เป็นมายาวนาน จำได้ว่าท่านหัวใจวายที่บ้าน ตอนนั้นก็เกือบไม่รอด แต่สุดท้ายก็รักษาจนฟื้นตัวกลับมาแข็งแรง และใช้ชีวิตได้ตามปกติ “ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ป๊ากลับมีอาการไตวาย และต้องฟอกไตหนักขึ้น จนร่างกายเริ่มทรุดลงเรื่อยๆ และวันๆ ป๊าก็จะคิดถึงแต่เรื่องความตาย บางครั้งก็ฝันถึงอากง อาแปะที่เสียชีวิตไปแล้วมาตาม ตอนนั้นเองที่ผมรู้สึกได้ถึงความกลัวของป๊า”

Happy Deathday

“ผมรู้ว่า จิตสุดท้ายของคนเรานั้นสำคัญ ผมจึงไม่อยากให้ป๊าต้องจากไปอย่างพะว้าพะวัง นั่นทำให้นอกจากการเชียร์อัปให้กำลังใจกันในแต่ละวันแล้ว ผมก็จะชวนให้ป๊าคิดบวก ชวนภาวนา พยายามให้เขาเอาความคิดมาอยู่กับลมหายใจไปเรื่อยๆ รวมถึงหาคลิปเสียงธรรมะมาเปิดให้ป๊าฟัง และหลายครั้งก็พาป๊าไปดูงานที่เราทำ หนึ่งในนั้นก็คืองาน Happy Deathday

“ถ้าผมไม่ได้ทำงานนี้ ผมคงไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบ โชคดีที่ชูใจฯ นำพาให้ผมได้รู้จัก Peaceful Death และมีโอกาสได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการโปรโมต ‘สมุดเบาใจ’ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถเผชิญความตายอย่างสงบ

“โดยก่อนที่จะเริ่มทำงานนี้ ผมต้องร่วมเวิร์กชอป ไปฟังเสวนา เอาตัวเองไปเข้าคอร์สเผชิญความตายอย่างสงบ เพื่อเรียนรู้ข้อมูลหลายๆ เรื่อง และพอร่างกายป๊าเริ่มแย่ลง ผมก็ชวนน้องสาวและภรรยาไปร่วมเวิร์กชอปด้วย เพราะเรารู้สึกว่าไม่ควรเข้าใจเรื่องนี้อยู่คนเดียว ที่สำคัญผมก็ไม่ได้กล้าพูดกับป๊าในทุกเรื่องหรอก ตรงกันข้ามกับน้องสาวที่ป๊ามักจะคุยด้วยมากที่สุด

“พอน้องสาวเริ่มเข้าใจและเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เขาก็หยิบเอาสมุดเบาใจไปและค่อยๆ คุยกับป๊า ในขณะที่ผมเป็นผู้ช่วยเสริมทัพ พาป๊าและครอบครัวไปดูงานที่เราทำ เช่น งาน Happy Deathday ฟังบรรยาย ฟังเสวนา รวมถึงนิมนต์ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล มาทำบุญบ้าน เรียกว่าฟีดข้อมูลรอบด้านทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ท่าน จนวันหนึ่งคีย์เวิร์ดก็ถูกปล่อยออกมา

‘ถ้าป๊าเป็นอะไรไป ไม่ต้องยื้อป๊า ปล่อยป๊าไปเลย อย่าให้ป๊าตื่นขึ้นมาแล้วต้องนอนติดเตียงเป็นผัก

“จากเดิมที่เราแค่ต้องการให้ป๊าเปิดใจเรื่องความตายและไม่กลัวความตาย กลายเป็นว่าป๊าเข้าใจ และไม่ใช่ป๊าคนเดียว เพราะหลังจากนั้นไม่นาน แม่ก็พูดในทำนองเดียวกันว่า ‘ม้าเหมือนกันนะ ปล่อยไปเลย ไม่ต้องยื้อ’

“ผมไม่รู้หรอกว่า ลึกๆ แล้วป๊ากับม้ารู้สึกอย่างไร แต่ที่แน่ๆ พวกท่านน่าจะกลัวการมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีคุณภาพ เพราะวันที่พาท่านทั้งสองไปชมนิทรรศการ Happy Deathday ช่วงท้ายๆ จะมีทางเลือกให้ผู้ชมงาน 2 ทาง คือ ยื้อชีวิตหรือไม่ยื้อชีวิต แน่นอนว่าเราไม่รู้หรอกว่า ไม่ยื้อแล้วจะต้องเจออะไรบ้าง แต่หากเราเลือกที่จะยื้อนั้น ท่านรู้แน่ว่าต้องเจอกับอะไร โดยเฉพาะป๊าที่เข้าๆ ออกๆ ห้องซีซียูอยู่หลายครั้ง ท่านเข้าใจว่า การถูกพันธนาการด้วยท่อและสายระโยงระยางนั้นทรมานแค่ไหน ท่านจึงชิงบอกประโยคนี้กับทุกคนในครอบครัว”

ของขวัญประจำบ้าน

“ป๊าจากพวกเราไปในวันที่ 5 ธันวาคม 2565 ภาพป๊าที่นอนนิ่งเหมือนคนกำลังหลับอยู่ ทำให้ผมรู้สึกว่า ความตายนั้นเรียบง่าย สงบ และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ที่น่ากลัวคือก่อนและหลังความตายมากกว่า

 “ก่อนตายจะน่ากลัวก็ต่อเมื่อวันนี้…ไม่ดี เช่น วันนี้ความสัมพันธ์เราไม่ดี วันนี้เรายังไม่ได้พูดสิ่งดีๆ ให้แก่กัน ฯลฯ ถ้าก่อนตายเราได้เคลียร์กัน ได้ขอบคุณ ขอโทษ กอดกัน บอกรัก หรือพูดความในใจต่อกัน ความตายจะไม่น่ากลัวเลย

  “ผมจึงอยากจะบอกทุกคนว่า สำหรับครอบครัวหรือคนที่เรารัก มันไม่มีวันไหน…มันมีแค่วันนี้ ถ้าจะบอกรักกัน บอกกันเลยวันนี้ ไม่ต้องมีพิธีรีตอง อยากกอดก็กอดเลย อยากกราบก็กราบเลย อยากขอโทษก็ขอโทษเลย เคลียร์กันวันต่อวัน เพราะเราไม่รู้หรอกว่า พรุ่งนี้จะยังมีโอกาสไหม?

“ขณะที่หลังความตายจะน่ากลัวก็ต่อเมื่อเราไม่ได้เตรียมพร้อม แน่นอนว่าจะวุ่นวายไปหมด นั่นจึงทำให้สมุดเบาใจเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเราได้หยิบความรู้สึก ความต้องการ หรือเจตจำนงบางอย่างออกมากองให้คนที่รักได้เห็น ได้รู้ ได้เข้าใจผ่านสมุดเบาใจ 

“สำหรับผม สมุดเบาใจควรเป็นสมุดสามัญประจำบ้านสำหรับทุกครอบครัว เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตก็แค่นี้ สักวันเราก็ต้องตายจากกัน การที่มีห้วงเวลาที่หยิบสมุดเบาใจมานั่งเขียนด้วยกัน และค่อยๆ พูดคุยและถามกัน ผมคิดว่านั่นเป็นของขวัญวันเกิดที่ดีที่สุดสำหรับการเกิดมาเป็นครอบครัวเดียวกัน และมันก็จะกลายเป็นของขวัญวันตายที่สมบูรณ์โดยตัวมันเอง”

ผลประกอบการชีวิต

“ผมเชื่อว่า นอกเหนือจากการเกิดมาเพื่อทำประโยชน์แล้ว คนเราเกิดมาเพื่อสัมพันธ์กับคนอื่น ความสัมพันธ์ที่ดี การมีเพื่อนดีๆ สักคนในชีวิต หรือการมอบไมตรีจิตให้แก่กัน คือของขวัญล้ำค่าที่ทำให้ชีวิตคนเรามีความหมาย และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ ‘ผม’ ในวัยนี้ให้ความสำคัญกับการดูแลความสัมพันธ์ ดูแลความรู้สึกคนใกล้ชิด

“จากตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ชีวิตเราเกี่ยวข้องกับคนไปทั่ว เราเหมือนได้สะสมความสัมพันธ์มาเรื่อยๆ และหากอยากรู้ว่า ความสัมพันธ์ในชีวิตของเราเป็นแบบไหนก็ลองสังเกตดูจากงานศพ เพื่อนที่มางานศพนั่นคือผลประกอบการที่ผ่านมาทั้งชีวิตของเราเลยก็ว่าได้

“เพราะงานศพไม่เหมือนกับงานแต่งงานที่สามารถนัดกันล่วงหน้า 3-4 เดือน จึงไม่แปลกหรอกที่คนจะมากัน แต่งานศพนั้นไม่มีการนัดหมายล่วงหน้า ถ้าไม่รักกันจริงๆ ก็คงไม่มา และเชื่อไหมว่า การมาร่วมงานของทุกคนนั้นช่วยเราได้มากจริงๆ แค่มานั่งเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย มาอยู่เป็นเพื่อนกันในวันที่เราอ่อนแอที่สุด นั่นก็มีความหมายสำหรับเราที่สุดแล้ว

“นี่เองที่ทำให้งานศพจึงสำคัญและเป็นงานที่เราควรต้องไป ด้วย Mindset นี้ หลังจากงานศพป๊าผ่านไป ผมจึงไปร่วมงานศพมากว่า 21 งานในปีถัดมา เรียกได้ว่ามากที่สุดในชีวิต โดยหนึ่งในนั้นก็คืองานศพแม่ของคุ้ง”

ต้องการอ่านแบบ eFile

Download PDF

เรื่องเล่าสมุดเบาใจอื่นๆ

Message us