ในวาระสุดท้ายที่ยังหายใจ

พชร โตอ่วม
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
วันที่สัมภาษณ์: 14 มีนาคม 2567
วันที่เผยแพร่: 12 เมษายน 2567

สมุดเบาใจเป็นเหมือนสมุดเล่มสุดท้ายในชีวิตที่ทุกคนน่าจะมีติดตัวไว้ เพราะสุดท้ายทุกคนก็ต้องมีวันสุดท้ายบนโลกใบนี้ เตรียมตัวไว้…ก็ไม่เสียหาย

‘สมุดเบาใจ’ ในมุมมองของ เปรียว-พชร โตอ่วม นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาอิสระวัย 37 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างการตระหนักรู้ในตนเอง เพื่อค้นหาศักยภาพที่มีและนำมาประยุกต์ใช้ในการรับมือกับปัญหาต่างๆ อย่างมีสติรู้ และนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาอาสาสมัครในโครงการบ้านหลังที่สอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงเธอยังเป็นนักคลื่นเสียงบำบัด (singing bowls sound therapy) และครูสอนโยคะมากประสบการณ์

ย้อนหลังกลับไปเกือบสิบปีก่อน เปรียวแต่งงานและติดตามสามีไปใช้ชีวิตที่ฮ่องกง โดยใช้ความสามารถด้านภาษาทำงาน ‘ล่ามอิสระ’ ในโรงพยาบาลและศาล ให้บริการทั้งคนไทยและเทศที่บังเอิญประสบปัญหาด้านสุขภาพหรือทำผิดกฎหมายที่นั่น แต่สื่อสารภาษาที่สองไม่คล่อง

เวลาผ่านไปเพียงปีเดียว เธอเผอิญคลำพบก้อนที่หน้าอกและไม่รอรีที่จะไปตรวจเช็กร่างกาย โดยครั้งนั้นแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน และให้ตรวจติดตามทุก 6 เดือน ซึ่งเธอก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด กระทั่งเธอย้ายกลับมาอยู่เชียงใหม่และไม่ลืมที่จะตรวจติดตามผลเหมือนเดิม แต่ที่ไม่เหมือนเดิมก็คือ ผลการตรวจนั้นกลับพบว่าก้อนที่เธอเฝ้าตรวจติดตามมาตลอด 3 ปีเต็มนั้น มีก้อนหนึ่งที่กลายเป็น ‘เนื้อร้าย’ เธอตัดสินใจผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้างอย่างเด็ดเดี่ยว และเดินหน้าใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด

“ด้วยความที่รู้สึกว่าชีวิตเราได้ทำในสิ่งที่อยากทำหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลองไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ได้เรียนสิ่งที่อยากเรียน ได้ทำงานในสิ่งที่เรียนมา ฯลฯ เหลืออย่างเดียวคืองานนักจิตที่เราใฝ่ฝันมาตลอด แต่เราไม่ได้ทำเสียที

“เพราะสมัยที่ตัดสินใจศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย จิตวิทยาเป็นหนึ่งในวิชาที่เราอยากเรียนพอๆ กับนิเทศศาสตร์ แต่ตอนนั้นเราเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการโฆษณา และพอออกมาทำงานจริงๆ งานโฆษณากลับไม่ได้ตอบคุณค่าทางใจของเรามากพอ

“กระทั่งเราได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตที่ฮ่องกงและได้ทำงานล่าม เรามีความรู้สึกว่างานนั้นกลับช่วยชุบชูใจและให้คุณค่าทางใจมากกว่า เพียงแต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าจะแบ่งขอบเขตของงานให้ดีได้อย่างไร ทำให้เรารู้สึกทุกข์อยู่บ่อยครั้ง เมื่อรู้สึกว่าตัวเองช่วยเขาได้ไม่มากพอ

“ยิ่งพอเป็นมะเร็ง ทุกอย่างก็ยิ่งชัดเจน เรารู้สึกว่าความตายมันอยู่แค่นี้เอง หากเราได้รับโอกาสที่สอง (second chance) เราอยากจะทำชีวิตที่เหลือให้มีคุณค่าที่สุด คุ้มค่าที่สุด นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

พัฒนาตัวเองเพื่อผู้อื่น

“จุดประสงค์แรกที่เรียนจิตวิทยาการปรึกษาก็เพื่อพัฒนาตัวเองและทำความเข้าใจกับตัวเองก่อนว่า พื้นฐานของเรานั้นเป็นคนแบบไหน และคุณค่าในชีวิตที่เราให้ความสำคัญนั้นมีอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรารู้ที่มาที่ไปของตัวเอง และสามารถพัฒนาตัวเองจากความเป็นเราจริงๆ 

“มันสำคัญมากๆ ที่เราทุกคนจะต้องรู้ว่า เราคือใคร  ฉะนั้น ทุกครั้งในการบำบัดคนไข้ เราก็จะชวนให้คนไข้ทบทวนว่า สุดท้ายแล้วเขาคือใคร  เพราะหลายครั้งในความเป็นมนุษย์ เรามักจะเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่นโดยที่ไม่รู้ตัว การที่เรารู้ว่าเราคือใคร มันจะทำให้เราไม่ล่องลอยอยู่ข้างนอกว่า เราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราไม่ได้เป็นแบบนี้

“และนี่เองที่ทำให้การเป็นนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาในวันนี้ตอบคุณค่าทางใจของเรา โดยที่ไม่ได้ทำให้เราทุกข์ใจเหมือนบทบาทต่างๆ ในอดีต เพราะเราสามารถแบ่งได้อย่างชัดเจนว่า หน้าที่ของเรา  คือ การทำหน้าที่รับฟังและให้คำปรึกษา แต่สุดท้ายคนไข้นั้นต้องกลับไปเผชิญความรู้สึกหรือความคิดต่างๆ นั้นเอง”

สู่ครอบครัว ‘เบาใจ’

“ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ขณะที่ยังเรียนปริญญาโทอยู่ เปรียวเข้าอบรมทักษะการใช้ ‘ไพ่ฤดูฝน’ (Rainy Card) กับทางเบาใจ Classroom จึงได้รู้จักกับ กอเตย (ปิญชาดา ผ่องนพคุณ) เป็นครั้งแรกและติดตามเขามาเรื่อยๆ กระทั่งเราได้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการทบทวนชีวิตว่า ถ้าเราตายแล้ว…ยังมีอะไรอีกบ้างที่เรายังไม่ได้ทำ นั่นเองที่เราได้รู้จักสมุดเบาใจเป็นครั้งแรกและได้รับสมุดเบาใจกลับบ้าน

“ครั้งแรกที่เปิดอ่าน จำได้ว่าสมุดเบาใจให้ทั้งพลังและสั่นสะเทือนข้างในพอสมควร ด้วยความที่เราเพิ่งผ่านการเป็นมะเร็งมา ตอนนั้นเข้าใจไปเองว่า เราน่าจะกลัวตาย จึงยังไม่กล้าเขียนอะไรลงไป ทั้งที่ลึกๆ เราอยากเขียนนะ รู้สึกว่าเป็นเครื่องมือเตรียมตัวที่ดี เพียงแต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ เรายังไม่พร้อมจะจินตนาการไปถึงวันนั้น

“สมุดเบาใจจึงถูกวางทิ้งไว้อยู่พักใหญ่ จนได้มาทำงานเป็นนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาอย่างจริงๆ จังๆ หลังสถานการณ์โควิดเริ่มเบาลง ตอนนั้นเรารู้สึกว่าชีวิตเราได้ทำทุกอย่างที่อยากจะทำแล้ว  กอปรกับช่วงนั้นสามีของเพื่อนสนิทคนหนึ่งเสียชีวิตอย่างกะทันหัน การไม่ได้เตรียมตัวอะไรไว้เลยทำให้เราได้เห็นถึงความยุ่งยากวุ่นวายของคนที่ยังอยู่ นั่นเองที่ทำให้เรารู้สึกว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่ต้องนัดกอเตยเพื่อทำสมุดเบาใจสักที”

วางแผนความตาย

“หนึ่งในบริการของ ‘เบาใจ แฟมิลี’ ซึ่งจะให้คำปรึกษาวางแผนการเตรียมตัวตาย โดยใช้สมุดเบาใจเป็นเครื่องมือหลัก และ ‘กอเตย’ ทำหน้าที่คล้ายนักบำบัดเฉพาะทาง ค่อยๆ ไกด์ไปตามคำถาม ซึ่งพอทำเสร็จเราก็รู้สึกได้เลยว่า สมุดเบาในนั้นไม่ได้มีประโยชน์แค่ว่าเราจะเตรียมตัวสำหรับช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างไร แต่สมุดเบาใจยังช่วยให้เราได้กลับมาทบทวนว่า เราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามากพอ…ตามที่เราอยากให้ชีวิตเป็นหรือยัง 

 “เปรียวเชื่อว่า การตายดี หมายถึง เราจะต้องผ่านการใช้ชีวิตที่ดีในแบบของเรามาแล้ว หากตอนที่มีชีวิตอยู่เราใช้ชีวิตได้ไม่ดี วันที่เราจะจากไป คงจะเป็นภาวะที่…จะไปก็ไปไม่ได้ ห่วงข้างหลังเหลือเกิน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะสภาพร่างกายไม่ได้เอื้อแล้ว ซึ่งสมุดเบาใจช่วยกระตุ้นเตือนเราในเรื่องนี้มากๆ

 “ระหว่างที่ทำสมุดเบาใจไป มันทำให้เราได้เห็นตัวเองชัดเจนขึ้นว่า จากเดิมที่เราคิดว่าตัวเองกลัวตาย แต่จริงๆ นั้นเราไม่ได้กลัวตาย แต่เรากลัวการสูญเสีย ด้วยความที่พอมองย้อนกลับไปทุกช่วงชีวิต เราจะรู้สึกว่าชีวิตของเราดีจัง ดีในแง่ของการได้ใช้ชีวิตในแบบที่อยากทำ อยากเป็น ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ยิ่งพอเราได้มาทำงานด้านจิตวิทยา เราก็ยิ่งรู้สึกว่าชีวิตของเรามีค่ามาก และนั่นทำให้เรากลับไปหวงแหนชีวิตนี้มากเกินไป…          

“เราได้เห็นว่าตัวเองยังมีชุดความคิดที่ไม่อยากให้มีใครตาย ไม่อยากสูญเสียอะไรหลายอย่าง แม้กระทั่งโมเมนต์ดีๆ อย่างการไปพบเจอเพื่อนรัก หรือการได้อยู่กับคนรัก เราก็ยังอยากให้โมเมนต์นั้นอยู่กับเราให้ยาวนานที่สุด เราได้เห็นถึงความคาดหวังของตัวเอง ซึ่งความคาดหวังนี่แหละที่เป็นเหมือนดาบสองคม และหันกลับมาทำร้ายเราให้เจ็บปวด เวลาที่ไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง พอเรารู้ทันตัวเองมากขึ้น เราก็จะกลับมาอยู่กับปัจจุบัน และทำความเข้าใจว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นไปตามที่เราคาดหวังได้ทุกอย่าง เมื่อไรที่มีความคาดหวัง สิ่งที่เราต้องทำคือเตรียมรับมือกับความผิดหวังให้ได้”

ความตายเป็นของทุกคน

“การนั่งทำสมุดเบาใจในวันนั้น ก็มีบางคำถามที่เรายังไม่สามารถตอบตัวเองได้ และขอกอเตยกลับไปปรึกษาสามีก่อนว่าเขาอยากให้เป็นอย่างไร โดยเฉพาะพาร์ทที่เราจัดการตัวเองไม่ได้แล้ว และคนใกล้ตัวจะต้องเป็นคนตัดสินใจแทน พาร์ทนี้ช่วยให้เราไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งเพราะคนที่จากไปคือเรา และตอนนั้นเราคงจะรับรู้อะไรไม่ได้แล้ว ในขณะที่คนที่ต้องจัดการและตัดสินใจแทนเราทุกอย่างก็คือสามี

“ด้วยความที่สามีของเปรียวเป็นลูกครึ่งและไม่มีครอบครัวอยู่ที่เมืองไทย หลังจากเราจากไป เขาคงต้องจัดการทุกอย่างเองคนเดียว จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องคุยกัน และเราก็ได้รู้ว่า ในมุมมองของเขาอยากให้มีพิธีกรรมบางอย่างให้รู้สึกว่าทุกอย่างจบลงแล้ว และเราได้จากเขาไปแล้วจริงๆ นั่นจึงทำให้เราตัดสินใจบริจาคเพียงอวัยวะ ส่วนร่างกายก็เข้าสู่พิธีกรรมทางศาสนาตามที่สามีเห็นสมควร

“หากพิจารณากันดีๆ จะพบว่าสมุดเบาใจนี้แบ่งออก 2 พาร์ทอย่างชัดเจน พาร์ทแรกๆ จะชวนให้เราได้ทบทวนว่า เราได้ใช้ชีวิตได้ดีหรือยัง ในขณะที่พาร์ทหลังๆ จะเป็นการวางแผนช่วยให้ ‘คนที่ยังอยู่’ รู้ว่าจะต้องจัดการอะไร อย่างไรบ้างเมื่อเราจากไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือสมุดเบาใจไม่ได้ช่วยแค่เรา แต่ยังช่วยให้คนข้างหลังเราได้เตรียมตัว

อย่างน้อยก็ช่วยให้เขาได้ก้าวผ่านกระบวนการของการสูญเสียและโศกเศร้าไปได้ดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะง่ายขึ้นนะ เพียงแต่เขาจะได้เรียนรู้ที่จะผ่านไปในแบบของเขา และเชื่อว่าการจากลาของเราน่าจะสมูทและดีสำหรับ ‘เรา’ ซึ่งจากไปและ ‘เขา’ ที่ยังอยู่”

เบาใจทั้งคนอยู่และคนจาก

“สำหรับเปรียว สมุดเบาใจไม่ต่างอะไรจากสมุดพกชีวิตของคนคนหนึ่งที่บอกว่า เราคือใคร เราได้ใช้ชีวิตแบบไหน อะไรที่สำคัญกับชีวิตเราบ้าง และเราอยากจากไปแบบไหน รวมถึงยังวางแผนช่วยคนที่อยู่อย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนนำไปสู่ ‘การตายดี’ ที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้

“เพียงแค่เรารู้ว่า เราคือใคร และ คุณค่าในชีวิตหรือความหมายในชีวิตของเราคืออะไร สองสิ่งนี้จะทำให้เรารู้ว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร อะไรคือ Life Mission หรือ สิ่งที่เราจะต้องทำในชีวิตนี้ เมื่อได้รู้แบบนั้นแล้ว เราจะได้ใช้ชีวิตตาม Mission นั้นๆ และเมื่อถึงวันที่เราต้องจากไป เราก็จะสามารถจากไปอย่างสง่างาม โดยไม่มีอะไรติดค้างคาใจ

“ถึงวันนี้เปรียวมองว่า ชีวิตเราอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว เพราะเราได้ทำในสิ่งที่อยากทำหมดแล้ว เพียงแค่วันนี้เรายังมีแรงกาย แรงใจ และอยากใช้มันอย่างมีคุณค่าที่สุด ผ่านการได้ออกไปทำงานร่วมกับคนไข้ ชวนให้เขากลับมาทบทวนตัวเอง ทำความเข้าใจตัวเอง และใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์ได้แบบตรงไปตรงมา จริงใจกับตัวเองที่สุด เพื่อสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จะนำพวกเขาไปสู่การจากไปในแบบที่เขาต้องการ…”

ต้องการอ่านแบบ eFile

Download PDF

เรื่องเล่าสมุดเบาใจอื่นๆ

Message us