สมุดเบาใจเล่มนี้เพื่อลูก

พวงชมพู ปาละกูล (ชมพู)
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
วันที่สัมภาษณ์: 24 เมษายน 2567
วันที่เผยแพร่: 9 พฤษภาคม 2567

เรามักจะได้ยินหรือได้เห็นประโยคที่ว่า ‘มนุษย์แม่…ตายไม่ได้’ อยู่เสมอ ทุกวันนี้ก็ยังคงผ่านตาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเวิร์กกิ้งมัม ซิงเกิ้ลมัม ฯลฯ ต่างถูกสะกดด้วยประโยคนี้มานาน จนมันฝังรากลึกอยู่ข้างในพวกเราไปแล้ว

พวงชมพู ปาละกูล (ชมพู) คือทายาทรุ่นที่ 2 ของบางอ้อ คาร์เซ็นเตอร์ ที่นำพาธุรกิจฝ่าวิกฤตการณ์โควิด-19 พลิกฟื้นคืนชีวิตให้ธุรกิจที่มีอายุกว่า 50 ปี จนกลายเป็นโชว์รูมรถยนต์ใช้แล้วอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ภายใต้ชื่อ Admire ที่สร้างตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ และขึ้นแท่นเป็นธุรกิจรถใช้แล้วยอดนิยมบนโลกดิจิทัล

ไม่เท่านั้น เธอยังพัฒนาและต่อยอดธุรกิจที่ตัวเองผูกพัน ด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์ Solar Gard และเป็นผู้นำเข้ารถกระบะเล็กไฟฟ้า แบรนด์ NEXTEM Thailand โดยไม่ได้หวังเพียงแค่สานต่อหรือรักษาธุรกิจให้คงไว้ แต่เป้าหมายใหญ่ของเธอก็คือทำให้ธุรกิจที่พ่อและแม่สร้างขึ้นนี้เติบโตอย่างยั่งยืน

“แม้เราจะมีโอกาสที่ดี มีทำเลที่ไม่ต้องเช่า มีประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายสิบปี แต่ก็ต้องยอมรับว่า การทำธุรกิจให้อยู่รอดในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะถึงวันนี้ได้ก็เรียกว่าสะบักสะบอมมาพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องสวมบทบาทเป็นทั้งผู้บริหารที่ต้องดูแลลูกน้องนับสิบชีวิตไปพร้อมๆ กับการเป็นมนุษย์แม่ลูกสอง ซึ่งลูกชายคนแรกอายุ 5 ขวบ ส่วนลูกสาวคนเล็กอายุเพียง 2 ขวบ โดยก่อนหน้านี้ก็มีเหตุที่ทำให้เราต้องพักงานเพื่อจะมาดูแลลูกชายคนโตอย่างใกล้ชิด ด้วยความที่เขามีโรคประจำตัวที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาการหนัก หากติดเชื้อโควิด-19  

“ด้วยสัญชาตญาณความเป็นแม่ ทำให้ตอนนั้นเราต้องเลือกลูกก่อน และจำยอมให้ธุรกิจต้องดำเนินไปอย่างไร้คนคุมหางเสือนานเป็นปี กอปรกับเมืองไทยกำลังเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าก็ยิ่งทำให้ตลาดรถมือสองซบเซา ตรงข้ามกับรายจ่ายทั้งทางธุรกิจและครอบครัวที่สูงขึ้นทุกวัน ช่วงนั้นทุกอย่างเหมือนบีบคั้นกดดันเรา จนถึงวันหนึ่งมันก็ระเบิดออกมาในรูปแบบของอาการป่วย

“ราวปลายปีที่แล้ว เราเริ่มมีอาการจี๊ดๆ เหมือนมดกัดตลอดเวลาที่เท้าทั้งสองข้าง หลังจากเข้ารับการตรวจก็พบว่าร่างกายมีภาวะปลายประสาทอักเสบ ตอนนั้นความเป็นห่วงลูกๆ เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และความคิดที่ว่า ‘เป็นมนุษย์แม่…ตายไม่ได้’ วนเวียนตอกย้ำอยู่ในหัวเราตลอดเวลา ก่อนจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าเราตาย ลูกๆ จะอยู่กันอย่างไร…

สู่ครอบครัวเบาใจ

 “โชคดีมากที่ตอนนั้นมีโอกาสได้รู้จัก คุณกอเตย (ปิญชาดา ผ่องนพคุณ) ในฐานะวิทยากรที่ได้รับเชิญไปบรรยายในหัวข้อ ‘สมุดเบาใจ วางได้ถ้าใจเบา’ ที่อาคารอมร สำนักงานใหญ่ของเบนซ์ อมรรัชดา ซึ่งเราสนใจมาก แต่วันนั้นไม่มีเวลาไปฟัง หลังจบงานก็พยายามเสาะหาเบอร์โทรคุณกอเตยและขอรับคำปรึกษาแบบส่วนตัว ซึ่งเป็นหนึ่งในบริการของ ‘เบาใจ แฟมิลี่’ (Baojai Family)

“พอถึงวันนัดหมายก็มีการพูดคุย ทบทวน ระบายความในใจ ปรึกษาปัญหาต่างๆ ก่อนจะตบท้ายด้วยการวางแผนชีวิตเพื่อการตายดีผ่านการทำสมุดเบาใจ นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักกับสมุดเบาใจ และยอมรับเลยว่าครั้งแรกที่เปิดอ่าน เราไม่รู้แนวทางเลยว่าจะเขียนข้อความลงไปในนั้นอย่างไรดี แต่การมีคุณกอเตยอยู่ข้างๆ ในวันนั้นช่วยเราได้มากเลย เพราะเขาจะช่วยอธิบายคำถามและยกตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจง่ายๆ

“ที่สำคัญการเขียนข้อความลงในสมุดเบาใจนั้น ก็ไม่ได้คิดแล้วเขียนลงไปในทันที แต่คุณกอเตยจะแนะนำให้เราลองพูดความประสงค์ออกมาก่อน จากนั้นเราก็จะช่วยกันกลั่นกรองให้เป็นคำหรือประโยคที่สามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายที่สุด เพราะท้ายที่สุดแล้วสมุดเบาใจเล่มนี้จะถูกส่งต่อไปยังครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องให้ทราบถึงเจตจำนงของเราในวันที่เราอาจจะสื่อสารไม่ได้หรือจากไปแล้ว ฉะนั้น ประโยคต่างๆ นอกจากตรงใจเราแล้วต้องง่ายต่อการเข้าใจของคนอื่นด้วย หากไม่มีคุณกอเตยอยู่ตรงนั้น ก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าเราจะเขียนสื่อสารได้ดีเท่านี้หรือเปล่า หรืออาจจะไม่ได้ลงมือเขียนสมุดเบาใจเลยก็ได้”

4 ชั่วโมงในการยกภูเขา

 “แม้การพูดคุย ทบทวน วางแผน และเขียนสมุดเบาใจกับคุณกอเตยจะเต็มไปด้วยคราบน้ำตา แต่หลังจาก 4 ชั่วโมงนั้นจบลง เรารู้สึกได้เลยว่าตัวเองได้ยกภูเขาออกจากอกแล้ว สิ่งที่ติดค้างคาใจถูกวางแผนและระบายไว้ในสมุดเบาใจทั้งหมด ใจที่เคยหนักอึ้ง กลายเป็นเบา สบาย และจากที่เคยคิดว่า มนุษย์แม่…ตายไม่ได้ วันนั้นเราเข้าใจเลยว่า จริงๆ แล้ว มนุษย์แม่อย่างเรา…ตายได้นะ (หัวเราะ) และสามารถ ‘ตายดี’ ได้ด้วย

 “เย็นวันนั้นเรากลับไปพร้อมสมุดเบาใจและยื่นให้สามีอ่านเป็นคนแรก จำได้ว่าเขายิ้มอย่างยินดี ด้วยความที่เขาเป็นผู้ชายสายธรรมะอยู่แล้ว และมักจะชวนเราเข้าวัด ฟังธรรมอยู่บ่อยๆ แต่ด้วยวิถีเราไม่ใช่แนวนี้ ก็จะไปบ้าง เลี่ยงบ้างเป็นธรรมดา แต่สมุดเบาใจกลับทำให้เราเข้าใจสัจธรรมชีวิตและพิจารณาความตายได้ด้วยตัวเอง จึงทำให้สามีดีใจมาก (หัวเราะ)

“อีกหนึ่งสัปดาห์ถัดมาเราก็หาโอกาสนำไปให้คุณแม่อ่าน อันนี้งานยากมาก เพราะมีสิ่งที่เก็บอยู่ในใจ ไม่กล้าบอกท่านตรงๆ แต่เราให้สมุดเบาใจนี้เป็นเครื่องมือที่ทำให้เรากล้าบอกสิ่งที่เรากังวลและเป็นห่วงอยู่ในใจ

“ใจความหลักๆ ที่อยากจะสื่อสารกับคุณแม่ก็คือ อยากฝากให้ท่านช่วยดูแลเรื่องการศึกษาให้ลูกๆ ทั้งสองคนหลังจากที่เราจากไป เพราะเรามองไม่เห็นว่าใครจะดูแลดวงใจทั้งสองของเราได้ดีเท่าคุณแม่อีกแล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องการดูแลสุขภาพช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งความต้องการของเราก็คือเมื่อตกอยู่ในภาวะวิกฤตด้านสุขภาพหรือทุพพลภาพ เราต้องการกลับมารักษาแบบประคับประคองที่บ้านและอยู่ท่ามกลางครอบครัว สามี และลูกๆ

“ส่วนเรื่องงานศพ เราก็ไม่ได้ต้องการอะไรมาก เพราะตั้งใจจะบริจาคร่างกายให้กับทางโรงพยาบาล จึงอยากให้จัดงานง่ายๆ โดยมีเพื่อนสนิทมาร้องเพลงให้ และในงานก็จะไม่ขอรับพวงหรีดใดๆ แต่ขอเป็นทุนการศึกษาให้ลูกๆ ทั้งสองแทน”

มนุษย์แม่…ก็ตายได้

“เชื่อเถอะว่ามนุษย์แม่ล้วนกลัวตายกันทุกคน แต่ไม่มีใครในโลกนี้ที่ห้ามความตายได้ ยิ่งห้ามไม่ได้ ยิ่งกลัวตาย เราก็ยิ่งต้องวางแผน และสมุดเบาใจก็คือเครื่องมือที่ช่วยเราวางแผนชีวิตและความตายล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยให้เราจินตนาการถึงสัจธรรมความจริงของชีวิตว่า ในวาระสุดท้ายของชีวิตนั้นเราจะต้องเผชิญกับสิ่งใดบ้าง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเมื่อวันนั้นมาถึง…”

ต้องการอ่านแบบ eFile

Download PDF

เรื่องเล่าสมุดเบาใจอื่นๆ

Message us