อาจารย์สมพร จงจรัล (พอลล่า)
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
วันที่สัมภาษณ์: 16 กุมภาพันธ์ 2567
วันที่เผยแพร่: 24 พฤษภาคม 2567
สมุดเบาใจไม่ได้เป็นแค่ Living will แต่ยังเป็นเครื่องมือสื่อสารในครอบครัวที่ทรงอานุภาพมาก ช่วยลดความขัดแย้ง ทำให้เกิดความเข้าใจและรักกันมากขึ้น
อาจารย์สมพร จงจรัล (พอลล่า) ครูสอนด้านจริยธรรมการใช้ชีวิตแห่งคริสตจักรเทียนสั่ง (Thiensung Church) หนึ่งในจิตอาสาของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา สร้างกระบวนกรชุมชนในเขตบางรัก ผ่านการอบรมผู้นำ อสส. (อาสาสมัครสาธารณสุข), ผู้สูงอายุ ฯลฯ พูดคุยเตรียมชีวิตผ่านการเล่นเกมไพ่ไขชีวิตและรณรงค์ให้มีการทำสมุดเบาใจภายในชุมชน เพื่อเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีจนถึงวาระสุดท้าย
“หลังจากประสบปัญหาชีวิตครอบครัวเมื่อปี 2543 เราได้ตัดสินใจเป็นคริสเตียน และได้รับการช่วยเหลือและคอยให้คำปรึกษาจากครอบครัวผู้รับใช้พระเจ้าที่โบสถ์นี้ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นเสมือนครอบครัว จึงได้พาลูกสาวทั้งสองคนมาโบสถ์เป็นประจำเพื่อเรียนรู้ จนเริ่มเข้าใจ และลูกสาวทั้งสองคนก็ตัดสินใจเป็นคริสเตียนเช่นกัน ต่อมาเราได้ตัดสินใจอุทิศตัวเป็นครูสอนในคริสตจักร และเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลและช่วยเหลือ เพราะอยากจะส่งมอบโอกาสให้ผู้อื่นต่อไป เหมือนที่เราเคยได้รับมา
“ถึงวันนี้ก็ 10 กว่าปีมาแล้วที่เราทำงานที่คริสตจักร นอกจากการสอนจริยธรรมการใช้ชีวิตโดยยึดหลักธรรมในพระคัมภีร์แล้ว เรายังได้มีโอกาสช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเบื้องต้นให้กับผู้ที่มีปัญหาต่างๆ ตามกำลังและความสามารถที่พอทำได้ และบางปัญหาก็ร่วมกันในทีมงานและคำปรึกษาจากทางศิษยาภิบาลของคริสตจักร ฯลฯ อะไรที่เราพอช่วยเหลือผู้อื่นได้ก็พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และเราก็อธิษฐานต่อพระเจ้าว่า ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ ขอพระองค์ใช้เราให้เป็นประโยชน์เพื่อคนอื่นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวาระสุดท้าย”
อยู่สบาย ไปสงบ
“เมื่อปี 2563 ด้วยงานที่ทำนำพาให้เราได้มีโอกาสรู้จักกับ คุณนันท์ (นันทนัช ยงศิลป์วิริยะกุล) และชักชวนให้เข้าคอร์สอบรมในหัวข้อ ‘อยู่สบาย ไปสงบ’ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ทำให้เราได้รู้จักกับสมุดเบาใจเป็นครั้งแรก ในครั้งแรกๆ นั้นก็ยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร แต่พออบรมไปเรื่อยๆ และมีทีมแพทย์ของทางโรงพยาบาลมาช่วยอธิบายจนเริ่มเข้าใจและรู้สึกตื่นเต้น เพราะเราไม่เคยรู้ว่ามีอย่างนี้มาก่อน
“ยิ่งพอได้ลองอ่านและเขียนสมุดเบาใจด้วยตัวเอง ก็เริ่มรู้สึกว่าสมุดเล่มนี้น่าจะเป็นประโยชน์มากสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งตอนนั้นท่านทั้งสองก็อายุมากแล้ว โดยเฉพาะคุณพ่อที่อายุ 93 ปี และเริ่มมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก เราจึงขอสมุดเบาใจกับทางคุณนันท์มาหนึ่งเล่ม และเมื่อมีโอกาสได้เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด จึงได้ให้คุณพ่อทำสมุดเบาใจ”
เดินทางกลับบ้าน
“ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นชีวิตของเราและลูกๆ ผ่านวิกฤตปัญหามาได้โดยพระเจ้า ท่านทั้งสองได้ศึกษาเรื่องราวของพระเจ้า และได้ตัดสินใจเป็นคริสเตียน ท่านมองว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว พอคุณพ่อได้รับสมุดเบาใจ ท่านก็ดีใจและเต็มใจที่จะได้วางแผนชีวิตพร้อมทั้งสื่อสารเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่วงสุดท้ายของชีวิต โดยให้เราเป็นคนเขียนสมุดเบาใจให้พร้อมทั้งเขียนชื่อด้วยลายมือท่านกำกับไว้ เพื่อยืนยันข้อมูลทั้งหมดในเล่ม จากนั้นคุณพ่อก็นำสมุดเบาใจเก็บไว้เอง
“กระทั่งวันหนึ่งที่คุณหมอนัดตรวจต่อมลูกหมาก ท่านก็นำสมุดเบาใจนี้ติดตัวไปโรงพยาบาลด้วย เพราะก่อนหน้านั้นทางคุณหมอวางแผนจะผ่าตัดต่อมลูกหมากให้ท่าน แต่ท่านไม่ได้ปรารถนาจะผ่าตัดตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จึงนำสมุดเบาใจหน้า 6 ไปกางให้คุณหมออ่าน พอคุณหมอได้อ่านก็ยุติการผ่าตัดทันที และบอกว่า ‘คุณตาไปใช้ชีวิตให้สบายและมีความสุขนะครับ ไม่ต้องมากังวลเรื่องผ่าตัดแล้ว’
หลังจากนั้นคุณหมอก็นัดติดตามอาการมาเรื่อยๆ และคุณพ่อก็ยังแข็งแรงดี ได้ปั่นจักรยานไปบอกเรื่องราวของพระเจ้าแก่คนในหมู่บ้านเกือบทุกวัน แม้จะมีหกล้มบ้างก็ตาม เป็นเวลากว่า 2 ปี ก่อนที่คุณพ่อจะจากไปอย่างสงบในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565”
เจตจำนงสุดท้าย
“ก่อนที่คุณพ่อจะจากไป ท่านบอกกับพวกเราว่า ‘พระเจ้าจะรับท่านกลับสวรรค์แล้ว ไม่ต้องพามาโรงพยาบาลอีก พ่อขออยู่ที่บ้านกับลูกๆ หลานๆ’ นั่นทำให้พวกเราตัดสินใจดูแลคุณพ่อแบบประคับประคองที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน
“ระหว่างนั้นเราก็ค่อยๆ เตรียมของชำร่วยตามที่คุณพ่อเคยสั่งไว้ และให้ท่านเลือกรูปหน้างานศพด้วยตัวเอง จากนั้นก็ให้หลานๆ ช่วยนำรูปไปอัดและใส่กรอบ เตรียมจองร้านดอกไม้ธีมสีขาว เสื้อสีขาว กระทั่งวันสุดท้าย ท่านก็เลือกโลงศพสีขาวที่มีไม้กางเขนด้วยตัวเอง ก่อนจะจากไปอย่างสงบ
“งานศพของคุณพ่อดำเนินไปอย่างเรียบง่ายและราบรื่น เพราะทุกอย่างถูกจัดเตรียมไว้พร้อมหมดแล้ว เพื่อนบ้านก็มองเราว่า ทำไมใจดำกับพ่อ พ่อยังไม่ทันตายก็เตรียมงานศพไว้เสียแล้ว เพราะคนในชุมชนส่วนใหญ่จะมองว่า การเตรียมงานศพล่วงหน้าเป็นเหมือนการแช่งพ่อ เขาถือกัน แต่เราก็ไม่ได้โต้ตอบ และทำทุกอย่างที่คุณพ่อแสดงเจตจำนงไว้ให้ดีที่สุด”
สมุดเบาใจช่วยเบิกทาง
“เพราะความที่คุณพ่อไม่อยากเป็นภาระให้ลูกๆ หลานๆ ในสมุดเบาใจคุณพ่อจึงระบุไว้ว่า อยากให้จัดงานศพเพียง 2 วัน และท่านได้เตรียมเงินจัดงานศพของท่านกับคุณแม่ไว้กับเราแล้ว วันแรกให้จัดเป็นพิธีพุทธ เนื่องจากพี่ๆ ทั้ง 4 คนยังนับถือศาสนาพุทธ และวันที่สองซึ่งเป็นวันเผา คุณพ่อระบุไว้ให้เชิญอาจารย์วินัยที่โบสถ์มาประกอบพิธีคริสต์และเผาให้ที่วัด พอพี่ๆ ได้ยินก็ตกใจ เพราะในต่างจังหวัดและในชุมชนหมู่บ้านไม่เคยเผาศพโดยไม่มีพิธีทางพุทธมาก่อน เราได้แจ้งพระทางวัดและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐประจำหมู่บ้าน ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยไม่ปัญหาแต่อย่างใด
“ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณ ‘สมุดเบาใจ’ ที่ช่วยเบิกทาง และลดความขัดแย้งในครอบครัวได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าวันนั้นไม่มีสมุดเบาใจ ต่อให้เราพูดอย่างไรก็คงจะทำให้คนอื่นๆ เข้าใจได้ยาก แต่ด้วยเจตจำนงของคุณพ่อที่ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนในสมุดเบาใจ ทำให้แม้จะมีความไม่เข้าใจกันอยู่บ้าง แต่ทุกคนก็ยอมรับอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง และพยายามทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อส่งคุณพ่ออย่างดีที่สุด”
ไพ่ไขชีวิต ‘คุณแม่’
“ด้วยความที่คุณแม่มีประวัติการเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก (Stroke) มาก่อน และคุณหมอเคยวินิจฉัยไว้ว่า ท่านอาจจะเป็นอัมพาตครึ่งซีกไปตลอดชีวิต แต่สุดท้ายคุณแม่ก็กลับมาเดินได้และใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่พูดได้ไม่ชัด
“หลังจากคุณพ่อได้ทำสมุดเบาใจ เราก็ชวนคุณแม่มาเล่นเกมไพ่ไขชีวิตพร้อมกับพี่สาว และมีอยู่คำถามหนึ่งถามว่า ‘ถ้าป่วยและต้องเข้าโรงพยาบาล คุณแม่จะให้คุณหมอเจาะคอ ใส่ท่อ หรือผ่าตัดไหม’ วันนั้นคุณแม่พูดตอบออกมาอย่างชัดเจนว่า ‘ไม่เอาๆ เราต้องรักตัวเอง ไม่เอาๆ แม่ไม่เอา เราต้องรักตัวเอง ไม่ทำนะ ไม่ทำให้แม่นะ’ ประโยคนี้เราและพี่สาวได้ยินพร้อมกัน และมันก็ดังก้องอยู่ในความคิดเรามาตลอด
“หลังจากคุณพ่อจากไปได้ 3 เดือน คุณแม่ก็นอนหลับนิ่ง เกิดหมดสติโดยไม่รู้สาเหตุ หลังจากคุณหมอตรวจ MRI อย่างละเอียดก็พบก้อนเนื้อที่ก้านสมอง สมองขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งจำเป็นต้องผ่าตัดด่วน วันนั้นพี่สาวโทรมาแจ้งข่าว เราก็รีบนั่งรถจากกรุงเทพฯ กลับต่างจังหวัดทันที ไปถึงโรงพยาบาลประมาณเที่ยงคืนกว่าๆ ทางคุณหมอก็เอาเอกสาร Living will มาให้เซ็น
“คืนนั้นเรากับพี่สาวมองหน้ากันและถามกันว่า ‘จำวันที่เราเล่นไพ่ไขชีวิตกับแม่ได้มั้ยว่า แม่พูดไว้ว่าอย่างไร’ จากนั้นเราทั้งสองก็ตัดสินใจเซ็นเอกสาร Living will ว่าไม่ขอยื้อชีวิต ไม่ผ่าตัด ไม่เจาะคอ ไม่ใส่ท่อ แต่ขอดูแลแบบประคับประคอง คุณหมอจึงให้เราทั้งสองเข้าไปลาคุณแม่เป็นครั้งสุดท้าย เพราะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด งดเยี่ยมทุกกรณี ให้รอรับโทรศัพท์และโทรสอบถามอาการได้เวลา 14.00 น. วันละ 1 ครั้ง ก่อนจะเข็นคุณแม่ไปที่ตึกผู้ป่วยรวม โดยมีเพียงสายออกซิเจนที่รักษาประคับประคองไว้ ดิฉันอธิษฐานมอบคุณแม่ไว้ให้อยู่ในน้ำพระทัยที่ดีที่สุดของพระเจ้า ยอมจำนนทุกอย่าง เพียง 3 วัน ชีพจรของคุณแม่ก็หยุดลง และได้ประกอบพิธีงานศพให้คุณแม่ในรูปแบบเดียวกับงานศพของคุณพ่อ”
ชีวิตที่เบาใจ
“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากงานขาวดำของคุณพ่อ คุณแม่ และญาติพี่น้องที่สนิทอีกหลายๆ งานแล้ว เราก็ยังพบว่าตัวเองมีก้อนเนื้อปูดที่หน้าแข้งด้านขวาซึ่งกดแล้วเจ็บมาก จึงได้ไปพบคุณหมอเพื่อผ่าตัดออก และได้นำชิ้นเนื้อไปตรวจพบว่าเป็นเนื้อร้าย ทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตคนเราไม่มีอะไรแน่นอน และเราจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างประมาทไม่ได้แล้ว ดังข้อพระธรรมสดุดี 90:12 ขอทรงสอนข้าพระองค์ทั้งหลายให้นับวันของตน เพื่อพวกข้าพระองค์จะมีจิตใจที่มีปัญญา
“หลังจบการรักษาด้วยการฉายแสง 33 ครั้ง ในเดือนสิงหาคม 2566 ต่อมาในช่วงปีใหม่ 2567 ได้มีโอกาสอยู่พร้อมหน้ากันกับลูกสาวสองคน เราก็ลงมือเขียนสมุดเบาใจจนเสร็จสมบูรณ์ และมอบให้ลูกสาวไว้คนละ 1 เล่ม โดยบอกกับพวกเขาว่า ‘หากวันหนึ่งที่แม่จากไป…สมุดเบาใจนี้จะพูดทุกอย่างแทนแม่’
“ตอนแรกลูกๆ ก็ไม่ยอมรับ และถามเรากลับมาว่า ทำไมแม่ต้องทำแบบนี้ แต่เมื่อเราอธิบายให้พวกเขาฟังว่า สมุดเล่มนี้เป็นการวางแผนชีวิตล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมให้แม่และพวกหนู โดยที่เราไม่อยากให้เป็นภาระหรือทำให้พวกเขาหนักใจในภายหลังเมื่อวันนั้นมาถึง
“จากเหตุการณ์ของคุณแม่ในครั้งนั้น ที่เราต้องเซ็น Living will ให้คุณหมอไป จำได้ว่าเราต้องใช้พลังใจอย่างมากในการตัดสินใจ เพราะเรามีเพียงเสียงคุณแม่ที่อยู่ในความทรงจำ ไม่มีลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ทำให้บางครั้งเรายังวนเวียนอยู่กับความคิดที่ว่า ถ้าเราไม่เซ็นวันนั้น แม่อาจจะยังอยู่กับเราจนถึงวันนี้
“หากวันนั้นคุณแม่ได้เขียนสมุดเบาใจไว้ก่อนที่ท่านจะจากไป การตัดสินใจต่างๆ ก็จะง่ายขึ้นและสบายใจกันทุกฝ่าย โดยที่ไม่ต้องนั่งรอให้ใครคนใดมาตัดสินใจเซ็นเอกสาร Living will เลย”
สื่อใจสำหรับครอบครัว
“จากประสบการณ์ส่วนตัวและการนำสมุดเบาใจไปใช้ในงานที่ทำอยู่ เราพบว่า นอกจากการทำหน้าที่เป็น Living will ได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่องแล้ว สมุดเบาใจยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารในครอบครัวได้อย่างดีที่สุด มีตัวอย่างของผู้สูงอายุท่านหนึ่งที่เขาได้เข้าอบรมและทำสมุดเบาใจ เนื่องจากเขาอ่านหนังสือไม่ออกและเขียนไม่ได้ จึงได้นำสมุดเบาใจกลับไปให้ลูกชายที่บ้านช่วยอ่านและเขียนต่อ และให้ลูกชายเซ็นเป็นพยาน ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะหลายๆ คำถามในสมุดเบาใจนั้นช่วยให้เราถ่ายทอดความรู้สึกที่บางครั้งไม่เคยพูดหรือบอกกับคนในครอบครัว เมื่อลูกชายได้อ่าน ทำให้มีความรักและความเข้าใจแม่มากขึ้น ฯลฯ
“ด้วยศักยภาพของสมุดเบาใจเหล่านี้เอง ทำให้ทางคริสตจักรนำสมุดเบาใจมาใช้ในโครงการของทางคริสตจักร จัดอบรมผู้สูงอายุในชุมชนเขตบางรักและรณรงค์ให้มีการทำสมุดเบาใจ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่คนในชุมชนตั้งแต่ยังมีชีวิตกระทั่งวาระสุดท้าย
“เพราะความเจ็บป่วยและความตายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถรู้วันเวลาล่วงหน้าได้ และการที่เราได้ทำสมุดเบาใจก็เหมือนการวางแผนชีวิตไว้ล่วงหน้า นอกจากจะช่วยให้เราได้รับการดูแลรักษาจากทีมแพทย์ตามเจตจำนงของเราแล้ว ยังช่วยให้ลูกหลานเบาใจเมื่อเราจากไปอีกด้วย”
ต้องการอ่านแบบ eFile