ตายดี สิทธิที่ควรเท่าเทียม

วรรณา จารุสมบูรณ์
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
วันที่สัมภาษณ์: 22 เมษายน 2567
วันที่เผยแพร่: 24 พฤษภาคม 2567

ไม่ว่าสูงหรือต่ำ ดำหรือขาว รวยหรือจน เรียนสูงหรือเรียนน้อย คนทั่วไป คนไร้บ้าน หรือผู้ต้องขัง ฯลฯ ล้วนปรารถนาที่จะ ‘ตายดี’ กันทั้งนั้น ทุกคนควรได้รับสิทธินี้ในฐานะเจ้าของชีวิต แต่ที่ผ่านมามีคนจำนวนมากไม่รู้ว่าเขามีสิทธินี้อยู่

วรรณา จารุสมบูรณ์ หรือที่คนไร้บ้านและผู้ต้องขังหญิงแห่งเรือนจำกลางขอนแก่นเรียกกันจนติดปากว่า ‘แม่สุ้ย’ ประธานกลุ่ม Peaceful Death และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา ผู้ก่อตั้งกลุ่มขอนแก่นนิวสปิริต แพลตฟอร์มที่ใช้เครื่องมือเครือข่ายและกระบวนการพูดคุยดึงคนกลุ่มต่างๆ มาร่วมสร้างระบบนิเวศแห่งการเกื้อกูลและแบ่งปันในสังคม โดยหนึ่งในกิจกรรมมากมายที่ทำร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรก็คือการจัดกระบวนการเรียนรู้การอยู่และตายดีให้กับ ‘คนไร้บ้าน’ และ ‘ผู้ต้องขัง’ ในจังหวัดขอนแก่น  

“ที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ เราพบคนไร้บ้านที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ อยู่ๆ ก็เสียชีวิตอย่างไม่มีใครคาดคิด ทั้งๆ ที่อายุก็ยังน้อย และหากมีประวัติการใช้ยาเสพติดมาก่อน เขาก็มักจะถูกมองว่าเสียชีวิตเพราะใช้ยาเสพติดเกินขนาด แต่ไม่มีใครเคยเข้าไปศึกษาอย่างจริงจังว่า คนไร้บ้านกลุ่มนี้เจ็บป่วยหรือไม่ เจ็บป่วยด้วยโรคอะไร และเคยได้รับการดูแลรักษาอย่างเพียงพอแล้วหรือยัง

“มีคนไร้บ้านจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงกระบวนการดูแลรักษา จึงทำให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และนี่เองที่เป็นเหตุให้ ‘กลุ่มขอนแก่นนิวสปิริต’ มีโอกาสร่วมงานกับ ‘กลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน’ จนทราบว่า ปัจจุบันเมื่อมีคนไร้บ้านเสียชีวิต ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือเราไม่รู้ว่าจะติดต่อญาติเขาอย่างไร เพราะเราแทบไม่รู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเขาเลย   

“หลายครั้งจึงเป็นเรื่องยากลำบากในการดำเนินการต่างๆ หลังจากเขาเสียชีวิต ด้วยความที่เราไม่ใช่ญาติสายตรง ทำให้ไม่สามารถรับศพออกจากโรงพยาบาลได้ จึงต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานหรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับคนไร้บ้าน ฯลฯ ในการเป็นผู้เซ็นรับเอาศพออกมา และเมื่อนำศพออกมาแล้ว เราก็ไม่แน่ใจว่าครอบครัวเขาจะต้องการนำศพกลับไปทำพิธีเองไหม หรือตัวผู้ตายเองออกแบบการตายของเขาไว้อย่างไร หรือเขาอยากให้จัดพิธีศพแบบไหน หรือเขาอยากกลับไปที่บ้านเกิดของเขาหรือเปล่า ฯลฯ   

  “นอกจากความยุ่งยากในเรื่องกฎหมายและการจัดการที่กล่าวมาแล้ว ลึกๆ เรายังรู้สึกว่า การตายของคนไร้บ้านหลายครั้งนั้นเหมือนการตายข้างถนน ไม่มีศักดิ์ศรี ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราทุกคนล้วนมีสิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการดูแลรักษาที่มีคุณภาพเพียงพอและเป็นมาตรฐานเดียวกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเหมือนๆ กัน”

เบาใจในวันไร้บ้าน

“นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราจับมือกับ ‘กลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน’ นำสมุดเบาใจไปใช้กับกลุ่มคนไร้บ้านที่มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคปัจจุบันทันด่วน โดยอย่างน้อยในสมุดเบาใจก็จะทำให้เรามีข้อมูลพื้นฐานว่าเขาคือใคร มีญาติพี่น้องอยู่ที่ไหน รวมถึงรู้ว่า อะไรคือคุณค่าสำคัญในชีวิตเขา และหากเจ็บป่วยอยู่ในระยะท้าย เขาอยากแจ้งข่าวญาติคนไหนไหม หรือให้หน่วยงานจัดการดูแลแบบไหน อยากให้ยื้อชีวิตไหม ฯลฯ

“ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ฯลฯ รู้สึกสะดวกใจในการจัดการดูแลมากขึ้น เพราะเมื่อเกิดเหตุใดก็ตาม มักไม่สามารถตามญาติพี่น้องของคนไร้บ้านมาร่วมตัดสินใจ และไม่รู้ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และหลายครั้งกลายเป็นปัญหาการครองเตียงในโรงพยาบาลนาน จนอาจต้องใช้วิธีตั้งคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อร่วมกันพิจารณาว่าควรจะดำเนินการต่ออย่างไร เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานจากการยื้อชีวิตและการดูแลรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์

“เราเชื่อว่าด้วยศักยภาพของสมุดเบาใจสามารถช่วยให้คนคนหนึ่ง ซึ่งแม้เขาจะเป็นคนไร้บ้านหรือต้องใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เขาก็มีสิทธิที่จะเข้าถึงการดูแลรักษาที่มีคุณภาพ และมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลแบบประคับประคองในช่วงท้ายของชีวิต รวมถึงเขามีสิทธิตายดี และจากไปอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เฉกเช่นมนุษย์คนอื่นๆ ไม่ใช่ตายข้างถนน หรือทำพิธีแบบตามมีตามเกิด”

‘ตายดี’ สิทธิที่ทุกคนควรได้รับ

“ราวกลางปี 2566 โครงการ ‘การวางแผนสุขภาพล่วงหน้าในกลุ่มคนไร้บ้าน’ ก็เริ่มขึ้น ภายใต้กระบวนการที่ได้รับการออกแบบร่วมกันระหว่าง ‘กลุ่มขอนแก่นนิวสปิริต’ และ ‘กลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน’ เพื่อให้คนไร้บ้านมีโอกาสได้รับการดูแลรักษาในช่วงท้ายของชีวิตตามสิทธิที่เขาสมควรได้รับ ผ่านการทำ ACP (Advance Care Planning) หรือสมุดเบาใจ 

“โดยธรรมชาติของคนไร้บ้านนั้น เขาค่อนข้างปิดตัว กลัวการถูกซักถามอะไรที่เป็นทางการ และเพื่อเป็นการปกป้องตัวเอง เขาจึงเลือกปกปิดข้อมูลบางส่วนหรือบอกไม่หมด และไม่ยอมเปิดเผยความต้องการที่แท้จริงของตนเอง ดังนั้น การทำสมุดเบาใจให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องสร้างความไว้วางใจและทำให้คนไร้บ้านรู้สึกปลอดภัยเพียงพอที่จะเล่าเรื่องราวที่สำคัญในชีวิตให้เราฟัง นั่นจึงเป็นที่มาของกิจกรรมนัดพบคนไร้บ้านตามพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุกวันอังคาร สัปดาห์เว้นสัปดาห์ ฯลฯ เพื่อทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคย  ผ่านกิจกรรมที่สร้างความสนุก เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม หรือพูดคุยอย่างผ่อนคลาย ฯลฯ รวมถึงมีอาหารกล่องแจกสำหรับคนไร้บ้านที่เข้าร่วมกิจกรรม 

“พอทำแบบนี้สัก 3-4 ครั้ง จนเขาเริ่มทักทายทีมงาน กล้าพูดคุย เปิดใจ กระทั่งชวนเพื่อนๆ มาร่วมกิจกรรม เราจึงเริ่มชวนมาทำสมุดเบาใจ ซึ่งจะใช้วิธีการแบบ 1 ต่อ 1 หรือการพูดคุยกันส่วนตัวทีละคน ข้อดีของสมุดเบาใจนั้น ไม่ได้พูดถึงแค่ข้อมูลพื้นฐานและการจัดการในวาระสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีการทบทวนชีวิต สิ่งที่เขาภาคภูมิใจ เป้าหมาย ความฝันในชีวิต ฯลฯ ซึ่งทำให้เขามีความสุขที่ได้เล่าเรื่องราวชีวิตให้เราฟัง 

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราพบว่ากว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของคนไร้บ้านนั้น มักจะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรืออ่านออกบ้าง แต่เขียนไม่ได้เลย หรือเขียนไม่คล่อง เพราะไม่ได้เขียนมานาน ทำให้การทำสมุดเบาใจส่วนใหญ่เป็นการถามตอบ โดยทางทีมงานจะทำหน้าที่เขียนให้ และอ่านทวนให้เขาฟังอีกครั้งว่า ถูกต้อง ครบถ้วนตามที่เขาต้องการไหม ก่อนจะให้เขาเซ็นด้วยลายมือกำกับอีกครั้งในสมุดเบาใจ

“นั่นทำให้การทำสมุดเบาใจของคนไร้บ้านใช้เวลามากกว่าคนทั่วไป และบางครั้งไม่สามารถจบได้เพียงการพูดคุยแค่ครั้งเดียว เพราะนอกจากเรื่องการอ่านเขียนแล้ว คนไร้บ้านหลายคนก็ใช้ยาเสพติดหรือติดเหล้ามาก่อน บางคนมีปัญหาทางสมอง สมาธิสั้น ฯลฯ ทำให้เขามีข้อจำกัดในการสื่อสาร การทำงานจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป และคนชวนคุยก็ต้องใจเย็นมากๆ เพราะการรุกไล่เพื่อให้ได้ข้อมูลมานั้น บางทีอาจทำให้คนไร้บ้านกลัว ลน และล้มเลิกที่จะทำสมุดเบาใจได้ในที่สุด    

  “ทีมงานจึงต้องใช้วิธีการประเมินเป็นรายๆ ไป เราไม่สามารถทำงานเหมือนเสื้อโหลกับคนไร้บ้านได้เลย บางรายก็จำเป็นต้องใช้วิธีชวนคุยผ่าน ‘เกมไพ่ไขชีวิต’ ก่อน เพราะความจริงแล้ว คนไร้บ้านเหล่านี้ต้องการพื้นที่ในการรับฟังอย่างมาก แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครฟังเขา แค่เขาเดินมาใกล้ คนส่วนใหญ่ก็เดินหนีแล้ว ฉะนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของเขาก่อน เราจึงจะได้ยินสิ่งที่อยู่ในใจเขาจริงๆ”

บาใจแบบเป็นระบบ

“ระหว่างที่โครงการนี้กำลังดำเนินไป เรากลับพบว่า แค่การชวนคนไร้บ้านมาทำสมุดเบาใจนั้นไม่พอ เพราะมีเหตุการณ์คนไร้บ้านคนหนึ่งเสียชีวิตกะทันหัน ซึ่งเขาได้ทำสมุดเบาใจไปแล้ว แต่ปัญหาคือเราหาสมุดเบาใจของเขาไม่เจอ ทางโรงพยาบาลก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไรต่อ โชคดีที่ตอนนั้นเราจำได้ว่า ทีมงานคนไหนเป็นคนที่ดูแลเคสนี้อยู่ และพอจำได้ว่าเจตจำนงของเขาคืออะไร จึงแจ้งโรงพยาบาลกลับไป แต่เราก็ยังรู้สึกเสียดาย เพราะถ้าเป็นเอกสาร เจ้าหน้าที่ก็จะทำงานได้ง่ายและสบายใจกว่า  

“จากบทเรียนที่ได้จึงนำมาสู่ระบบการจัดเก็บสมุดเบาใจของคนไร้บ้าน เพราะหากเก็บไว้กับตัวเอง คนไร้บ้านมีโอกาสที่จะทำสมุดเบาใจหายสูงมาก จึงจำเป็นต้องหาที่จัดเก็บ พร้อมทั้งระบุไว้ในสมุดเบาใจให้ชัดเจนว่า ยินดีให้มีการบันทึกข้อมูลลงในระบบของโรงพยาบาลหรือทำสำเนาไว้อย่างน้อย 1 ฉบับ เพื่อแนบไว้กับแฟ้มประวัติของทางโรงพยาบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบ” 

จากคนไร้บ้านสู่ผู้ต้องขัง

“ด้วยความที่เราทำงานกับเรือนจำกลางขอนแก่นมาหลายปี กอปรกับมีโอกาสพูดคุยกับคุณหมอที่ทำเรื่องการดูแลคนไข้ในระยะประคับประคองของทางโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น พบว่าอัตราการครองเตียงของคนไข้ระยะท้ายนั้นเพิ่มขึ้นทุกวัน ส่วนหนึ่งมาจากการครองเตียงแล้วเคลียร์ไม่ได้ของคน 2 กลุ่ม คือ คนไร้บ้านและผู้ต้องขัง ทั้งที่ต้องโทษและพ้นโทษแล้ว แต่ทางบ้านไม่พร้อมรับไปดูแลต่อ บางรายติดต่อญาติไม่ได้ หลายรายญาติก็ขอไม่ยุ่งเกี่ยว ทำให้ทีมผู้ให้การรักษากลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพราะไม่มีใครตัดสินใจ ผู้บริหารก็ลำบากใจเพราะบริหารเตียงไม่ได้

“ในอีกแง่หนึ่ง คุณหมอเองก็รู้สึกว่านี่เป็นการยื้อชีวิตโดยไม่จำเป็น เพราะทำให้คนไข้ทุกข์ทรมาน และเชื่อว่าคนไข้ไม่ได้ต้องการแบบนี้ ซึ่งหากเขาทำสมุดเบาใจหรือ ACP ไว้ล่วงหน้า และระบุว่าไม่ต้องการให้ยื้อชีวิต แน่นอนว่าทางโรงพยาบาลก็จะไม่ปั๊มหรือใส่ท่อใดๆ และปล่อยให้เขาจากไปตามธรรมชาติที่โรงพยาบาลหรือกลับไปที่บ้านตามความประสงค์ แต่ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนมากก็ไม่เคยวางแผนการดูแลล่วงหน้า หรือ ACP มาก่อน จึงไม่แปลกที่ผู้ต้องขังในเรือนจำกลางขอนแก่นกว่า 98-99 เปอร์เซ็นต์ จะไม่รู้จักสมุดเบาใจ หรือแม้กระทั่ง ACP ทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตที่นี่ไม่มี ACP 

“ในมุมของเรือนจำเองก็มีความเปราะบางในแง่ที่ว่า เขาไม่สามารถให้ผู้ต้องขังเสียชีวิตในเรือนจำได้ เพราะเมื่อไรที่มีผู้ต้องขังเสียชีวิตในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าตัวเองบกพร่องในหน้าที่ที่ปล่อยให้ผู้ต้องขังเสียชีวิตโดยไม่ทำอะไร ซึ่งเรื่องนี้ไปเกี่ยวโยงกับหลักสิทธิมนุษยชนและอาจจะเกิดกระแสดราม่าขึ้นในสังคมได้ง่าย รวมถึงยังสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ต้องขังอื่นๆ จึงเป็นเหตุให้เมื่อมีผู้ต้องขังป่วยหรือมีอาการโคม่า ทางเรือนจำจะส่งตัวมายังโรงพยาบาลเป็นหลัก ภาระหนักก็จะไปตกที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นที่ต้องบริหารจัดการเตียงให้เพียงพอสำหรับคนไข้ทุกคน”

อิสรภาพหลังกรงขัง

“จากปัญหาต่างๆ ทำให้เราเสนอ ‘สมุดเบาใจ’ กับทางเรือนจำกลางขอนแก่น เพื่อให้สมุดเบาใจทำหน้าที่เสมือน ACP ซึ่งช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงการดูแลรักษาแบบประคับประคองและมีโอกาสตายดี ขณะเดียวกันก็ยังช่วยป้องกันเรือนจำจากการถูกกล่าวหาว่าละเลยการดูแลหรือไม่คำนึงสิทธิมนุษยชน เพราะจริงๆ แล้วด้วยสภาพที่แออัดและสุขอนามัยที่ไม่ดีในเรือนจำ แน่นอนว่าผู้ต้องขังทุกคนเข้ามาย่อมเกิดความเครียด ยิ่งหากใครที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว ก็มีโอกาสที่โรคจะกำเริบได้ง่าย รวมทั้งมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไป    

“นี่เองที่ทำให้เกิดการริเริ่มนำสมุดเบาใจมาใช้ที่เรือนจำกลางขอนแก่นขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยนำร่องใช้กับผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง 4 กลุ่ม จำนวน 121 คน คือ 1) กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2) กลุ่มผู้ต้องขังสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 3) กลุ่มจิตเวช และ 4) กลุ่มผู้ป่วยเอดส์ 

“ด้วยความที่ผู้ต้องขังแต่ละคนล้วนมีปมในชีวิตที่อาจจะรู้สึกผิดทั้งกับตัวเองและรู้สึกผิดกับพ่อแม่ที่ทำให้พวกท่านต้องเสียใจ รวมถึงรู้สึกผิดกับลูกที่ต้องทิ้งให้คนอื่นดูแลเพราะต้องมาติดคุก ฯลฯ ที่สำคัญด้วยความที่ผู้ต้องขังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนแตกต่างจากกลุ่มคนไร้บ้าน ทำให้เราสามารถทำงานลงลึกกับเขาได้ เราจึงถือโอกาสออกแบบกระบวนการมากกว่าแค่ทำเรื่องสมุดเบาใจ แต่เรายังชวนให้ผู้ต้องขังมาทำความรู้จักตัวเอง ทบทวนบทเรียนในชีวิต ระบายสิ่งที่ติดค้างคาใจ และชวนมองภาพตัวเองในอนาคต ฯลฯ ก่อนจะเข้าสู่การทำสมุดเบาใจ

“นอกจากนี้ เรายังชวนคุณหมอจากโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นมาเล่าเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานว่า หากตัวเขาเจ็บป่วยในระยะท้ายหรือมีคนในครอบครัวเจ็บป่วยในระยะท้าย เขายังมีทางเลือกในการรักษาดูแลอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่การยื้อชีวิต แต่เป็นการดูแลอีกรูปแบบหนึ่งที่เน้นให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจวบจนลมหายใจสุดท้าย แม้ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังจะไม่ต้องการยื้อชีวิตตัวเองและอยากจากไปตามธรรมชาติ ด้วยความที่ไม่อยากเป็นภาระใคร แต่เราเชื่อว่า หากพ่อแม่หรือคนที่เขารักเจ็บป่วยในระยะท้าย เขาอาจเลือกที่จะยื้อชีวิตหรือรักษาพ่อแม่อย่างเต็มที่ เพื่อชดเชยความรู้สึกผิดที่ไม่เคยได้ดูแลท่านเมื่อยังมีชีวิต นี่เป็นเหตุผลที่เราอยากให้ผู้ต้องขังรู้ว่า นอกจากการยื้อชีวิตแล้ว ยังมีการดูแลคนที่เขารักในอีกรูปแบบหนึ่งที่มั่นได้ใจว่าเขาสามารถทำได้ โดยที่ไม่ต้องทรมานพ่อแม่ และในปัจจุบันแทบทุกโรงพยาบาลก็มีหน่วยงานที่พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลประคับประคองอยู่แล้ว ซึ่งเขาสามารถไปขอคำแนะนำได้”

เบาใจในเรือนจำ

“ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้เขามีเครื่องมือไปใช้ดูแลใจตัวเองขณะที่อยู่ในเรือนจำหรือนำติดตัวไปใช้เมื่อได้ออกสู่โลกภายนอก เราจึงเพิ่มกิจกรรมอีก 2 วัน โดยวันที่ 1 และ 2 นั้น จะห่างกัน 20 วัน เพื่อให้เขาลงมือทำภารกิจบางอย่างเพื่อเปลี่ยน Mindset ที่มีต่อตัวเองและคนรอบข้าง เพราะเราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเองก็เหมือนกับการสร้างร่องน้ำใหม่ให้กับชีวิต จึงจำเป็นจะต้องมีน้ำไหลผ่านทุกวัน ร่องน้ำจึงจะลึกขึ้น เราออกแบบให้ทุกคนจับเซียมซี ‘ภารกิจเปลี่ยนชีวิตใน 20 วัน’ ใครได้ภารกิจอะไร ก็แค่ฝึกทำซ้ำๆ วันละ 5-10 นาที ไม่ว่าจะเป็นภารกิจจับไม้ติ้วดำ-ขาว เพื่อเรียนรู้ว่าทุกข์นั้นเกิดจากความคิด, เคี้ยวข้าว 10 ครั้งในคำแรกของทุกมื้อ, ยิ้มให้คนที่ไม่ชอบขี้หน้า, มองหาแง่บวกในสิ่งที่ไม่ชอบ, ฝึกชื่นชมตัวเอง, รู้จักเอ่ยคำว่าขอบคุณ ฯลฯ ซึ่งทุกภารกิจที่มอบหมายนั้น นอกจากจะดีกับตัวผู้ต้องขังแล้ว ยังช่วยสร้างบรรยากาศในเรือนจำให้ดีขึ้นอีกด้วย    

“จากการทำโครงการมาจนถึงวันนี้ เราเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพของสมุดเบาใจนั้นสามารถเป็นคำตอบของปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้านหรือผู้ต้องขัง ล้วนปรารถนาที่จากไปอย่างสงบตามธรรมชาติ ไม่อยากเจ็บปวดทรมานจากการยื้อชีวิต และไม่อยากเป็นภาระของใครเลย แม้แต่ครอบครัวของเขาเอง 

“ทุกคนต่างต้องการจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ไม่ทุกข์ทรมาน และไม่มีอะไรติดค้างคาใจ แต่ที่ผ่านมาคนมากมายไม่รู้ว่าเขามีสิทธินี้อยู่ และการที่ Peaceful Death ทำเรื่องนี้มาตลอดหลายปี ก็เพียงเพราะเราอยากให้ทุกคนรับรู้ว่า เพียงแค่วางแผนสุขภาพล่วงหน้าหรือแสดงเจตจำนงไว้ในสมุดเบาใจ เรามีสิทธิที่จะ ‘ตายดี’ ได้ทุกคน…”

ต้องการอ่านแบบ eFile

Download PDF

เรื่องเล่าสมุดเบาใจอื่นๆ

Message us