เพียง…การเดินทางไกล

พญ.รุ่งทิวา พิสุทธิ์ปัญญา
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
วันที่สัมภาษณ์: 11 ธันวาคม 2566
วันที่เผยแพร่: 15 มีนาคม 2567

ชีวิตคือการเดินทาง
หากเราจะเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ
แน่นอนว่า เราก็ต้องวางแผนการเดินทาง
ไม่ว่าจะเป็นการทำพาสปอร์ต จัดกระเป๋า หาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว
ถ้าไปในฤดูหนาวก็ต้องเตรียมเสื้อกันหนาว ซื้อประกันการเดินทาง ฯลฯ
คิดดูสิ แค่ไปเที่ยวเรายังวางแผนขนาดนี้
แล้วการเดินทางไกลครั้งสุดท้ายอย่างการตายจากไป
เราจะไม่วางแผนอะไรเลยเหรอ?เราจะปล่อยให้คนอื่นมาเลือกแทนเราเหรอ

ประโยคชวนฉุกคิดจาก คุณหมอถิงถิง-พญ.รุ่งทิวา พิสุทธิ์ปัญญา อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ผู้หลงใหลในศาสตร์ของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) มาตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ และมีโอกาสได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน ‘คลินิกอุ่นใจ’ หน่วยบริการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง แผนกเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และนั่นเองที่ทำให้เธอเข้ามาข้องเกี่ยวกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากมาย และใช้ ‘สมุดเบาใจ’ เป็นเครื่องมือในการสื่อสารและเยียวยา

“หมอรู้จักสมุดเบาใจมาตั้งแต่สมัยเป็นแพทย์ประจำบ้าน และเคยนำสมุดเบาใจมาทำวิจัยเกี่ยวกับ ‘ปัจจัยที่มีผลต่อความต้องการทำพินัยกรรมชีวิตในผู้ป่วยสูงอายุ’ เมื่อครั้งยังเป็นแพทย์ประจำบ้านเวชศาสตร์ครอบครัว เพราะเราอยากรู้ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้ผู้ป่วยสูงอายุอยากเขียนพินัยกรรมชีวิต (Living will) โดยเริ่มต้นจากการแจกสมุดเบาใจในฐานะเป็นพินัยกรรมชีวิตเป็นของขวัญกลับบ้านให้กับผู้ป่วยสูงอายุจำนวน 100 คน อายุตั้งแต่ 60-92 ปี แบ่งเป็นเพศหญิง 60 คน และเพศชาย 40 คน โดยทุกคนไม่เคยทำพินัยกรรมชีวิตมาก่อนเลย และกว่า 93 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมวิจัยไม่รู้จักพินัยกรรมชีวิต

หมายเหตุ :  งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงใน วารสารระบบบริการปฐมภูมิและเวชศาสตร์ครอบครัว (Journal of Primary Care and Family Medicine) ปี 2565

“ผลการวิจัยพบว่า มีเพียง 32 คนเท่านั้นที่ตัดสินใจทำสมุดเบาใจ ขณะที่อีก 68 คน ยังไม่ตัดสินใจหรือไม่ต้องการทำ หลังจากนั้นเราก็ศึกษาเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกทางโทรศัพท์กับ ‘กลุ่มที่ตัดสินใจทำสมุดเบาใจ’ ซึ่งตอนนั้นตามมาได้ 21 คน แต่พบว่ามีเพียง 6 คนเท่านั้นที่เขียนสมุดเบาใจเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือจากนั้นยังไม่ได้ลงมือเขียน บางคนทำสมุดเบาใจหายไปแล้วก็มี

“จากการสัมภาษณ์เชิงลึก เราก็พบว่ามีหลากหลายปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจทำพินัยกรรมชีวิตของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านบุคคล เช่น อายุ อาชีพ, ปัจจัยด้านครอบครัว, ปัจจัยด้านสังคม เช่น มุมมองความตายในสังคม, ปัจจัยด้านจิตวิญญาณ เช่น ศาสนา และความพร้อมในการเผชิญหน้ากับความตาย รวมถึง ‘สมุดเบาใจ’ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้เข้าร่วมวิจัยอยากเขียนพินัยกรรมชีวิตมากขึ้น  

“ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงาม ภาษาที่สามารถอ่านเข้าใจง่าย และความสำเร็จรูป ช่วยให้การเขียนพินัยกรรมชีวิตง่ายขึ้น นี่เองที่ทำให้ตลอด 1 ปีครึ่ง ที่เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หมอมักจะแจกสมุดเบาใจให้คนไข้ที่สนใจ และยังพอมีเวลาวางแผนการใช้ชีวิตและการเดินทางไกลของตนเอง”

สื่อสารความตาย

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนไม่น้อยในสังคมไทยที่มองว่า การพูดถึงความตายเป็นเหมือนการสาปแช่ง ไม่มงคล เป็นลางไม่ดี ความตายเป็นเรื่องไม่ควรพูดกัน จึงไม่แปลกเลยที่หลายคนจะกลัวการเขียนพินัยกรรมชีวิต ยิ่งหากไม่รู้เรื่องกฎหมาย ก็ยิ่งกลัวว่าหากเขียนไปแล้วจะถูกนำไปใช้ในทางไม่ดี 

“เช่นเดียวกับการพูดคุยเรื่อง Palliative Care กับคนไข้ ด้วยความที่การแพทย์ไทยเพิ่งเปลี่ยนคอนเซ็ปต์เรื่องการดูแลแบบประคับประคองมาไม่นาน จากเดิมที่ใช้คำว่า NR (No Resuscitation) หรือการปฏิเสธการกู้ชีพ หมายถึงการปฎิเสธไม่สอดท่อพยุงชีพ, ไม่ปั๊มหัวใจ ฯลฯ ทำให้การดูแลแบบประคับประคองถูกเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นมาตลอด จนกระทั่งมีการเปลี่ยนใช้คำว่า Palliative Care การดูแลแบบประคับประคองจึงเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ไป

“ใครก็ตามที่มีโรคซึ่งรักษาไม่หายขาด (life-threatening illness) เช่น มะเร็ง โรคสมองเสื่อม โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจวายเรื้อรัง หรือโรคไตวายเรื้อรัง ฯลฯ ถือเป็นคนที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคองทั้งสิ้น โดยการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนไข้มี ‘คุณภาพชีวิต’ (quality of life) ที่ดีที่สุดในเวลาที่เหลืออยู่จำกัด ได้ทำในสิ่งที่ค้างคาหรือวางแผนชีวิตด้วยตัวเอง และได้ปลดภาระที่มันหน่วงอยู่ในใจของเขา เพื่อสุดท้ายเขาจะได้จากไปอย่างสงบหรือตายดีนั่นเอง และนอกจากการดูแลคนไข้แล้ว Palliative Care ยังดูแลครอบคลุมไปถึงครอบครัวและสังคม ดูแลสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่คนไข้เสียชีวิต เช่น ในบ้านมีใครป่วยอีกไหมหลังคนไข้เสียชีวิต

“ใน OXFORD handbook of palliative care 3rd edition จะแบ่งการดูแลคนไข้ออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ 1) Disease management คือ ตัวโรค ซึ่งเราจะทำงานร่วมกับคุณหมอเจ้าของไข้ว่า ตัวโรคเป็นอย่างไร รักษาถึงขั้นไหน ฯลฯ 2) Symptom control คือ อาการเจ็บป่วย อาการไม่สุขสบาย อาการทรมาน และ 3) Psychosocial คือ จิตใจของคนไข้ สภาพของญาติ รวมถึงภาวะความทุกข์ของญาติหลังคนไข้เสียชีวิต ซึ่งภาพของ Palliative Care จะอยู่บนพื้นฐานเพียงเท่านั้น แต่คนส่วนใหญ่มักหลุดโฟกัส เช่น คุณหมอเจ้าของไข้ประเมินเคสหนึ่งว่าไม่ไหวแล้ว ให้เราไปคุยกับญาติให้หยุดเถอะ

“ในทาง Palliative Care เราจะไม่ใช้คำว่า ยื้อ ปล่อย หรือสู้ แต่เราจะใช้คำว่า ‘เลือก’ เช่น เลือกคุณภาพหรือเลือกเวลา ฯลฯ โดยทุกครั้งที่จะเข้าไปคุยกับคนไข้หรือญาตินั้น เราจะไม่ตัดสินใจอะไรไปก่อน เพราะเมื่อไรที่เราตั้งธงไว้ในใจแล้วว่า ฉันจะคุยกับญาติเพื่อ NR เพราะโรคไปต่อไปไม่ไหวแล้ว คุยอย่างไรคนไข้ก็ไม่เข้าใจหรอก ฉะนั้น เราจะต้องถอยใจออกมาก่อน แล้วคุยเฉพาะ Fact เท่านั้น และไม่ว่าคนไข้หรือญาติจะเลือกทางไหน หน้าที่เดียวของเราคืออยู่ข้างๆ เขาไปตลอดเส้นทางที่เขาเลือก เช่น หากเขาเลือกเวลา เราก็จะรักษากันไปจนสุดทาง สอดท่อ ใช้เครื่องช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจกันจนวินาทีสุดท้าย”

จุดหมายปลายทางเดียวกัน

“มีหลายครั้งที่นักศึกษาแพทย์มักถามหมอว่า ทำอย่างไร...หากคุยกับคนไข้หรือญาติไม่สำเร็จ เราก็จะตอบว่า ในการพูดคุยในเรื่อง Palliative Care นั้น ไม่มีคำว่า ‘สำเร็จ’ หรือ ‘ล้มเหลว’ มีแต่คำว่า ‘เข้าใจ’ หรือ ‘ไม่เข้าใจ’ เท่านั้นเอง หรือบางรายเข้าใจแต่ไม่ยอมรับ เลือกที่สู้จนลมหายใจสุดท้ายก็มี ซึ่งนั่นเป็นสิทธิ์ของคนไข้ สิทธิ์ในการตัดสินใจในร่างกายของเขา

“มีอยู่เคสหนึ่งที่คนไข้ได้รับการผ่าตัดเปิดหัวใจมาหลายรอบ จนคุณหมอเจ้าของไข้ไม่อยากให้เขาใส่ท่อแล้ว เพราะอาจจะเกิดความเสี่ยงหลายอย่าง และที่สำคัญคือสร้างความเจ็บปวดให้เขา แต่เขากลับเลือกที่จะสู้จนวินาทีสุดท้าย แม้จะต้องเสียชีวิตในห้องไอซียูก็ยอม เคสนี้หมอเองมองว่า ลึกๆ แล้วคนไข้ไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง แต่เขาเลือกสู้เพื่อน้องสาวที่เขารัก ซึ่งเราก็ต้องเปิดใจและให้พื้นที่คนไข้ในการตัดสินใจเลือกในสิ่งที่เขาสบายใจ

“ถามว่าหมอจะเดือดร้อนใจไหมถ้าคุยกับคนไข้แล้วไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่ไม่ยอมรับ คำตอบคือไม่เลย เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่สิทธิ์ของหมอ แต่เป็นการตัดสินใจของคนไข้และญาติ หมอแค่ทำหน้าที่สื่อสารถึงทางเลือก แต่สิทธิ์ในการตัดสินใจเลือกนั้นเป็นของคนไข้และญาติ จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ยอมรับหรือไม่ยอมรับ เลือกหรือไม่เลือก สุดท้ายเราทุกคนก็ต้องตายเหมือนกัน แค่ตายอย่างไร ตายแบบไหน ทรมานกว่าหรือเปล่า…เท่านั้นเอง”

แสงเทียนในโลกสีเทา

“ทั้งๆ ที่รู้ว่าความตายคือมิติหนึ่งในชีวิต เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกคนแน่นอน เพียงแค่ไม่รู้ว่าวันไหน แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงมองความตายเป็นเรื่องยาก ครั้งหนึ่งหมอเคยเจอเคสที่คุณพ่อป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและรักษาไม่หาย ในสถานการณ์คุณพ่อกลายเป็นผู้ป่วยวิกฤตและไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ แล้ว ลูกสาวคนเดียวตัดสินใจปล่อยคุณพ่อจากไปโดยไม่ยื้อ ไม่เร่ง ไม่ใส่ท่อ ไม่ปั๊มหัวใจ ไม่ใช้ยากระตุ้นใดๆ เลย กระทั่งในนาทีสุดท้ายคุณพ่อจากไปอย่างสงบจริงๆ

“เรื่องราวก็น่าจะจบลงอย่างแฮปปี้ แต่กลับไม่ใช่ เพราะในงานศพนั้น ลูกสาวถูกถาโถมด้วยคำถามจากญาติที่มาในงาน ไม่ว่าจะเป็น “ทำไมไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ…” “ถ้าทำ…เขาอาจยังมีชีวิตอยู่ก็ได้” “วันนี้เขาอาจยังหายใจอยู่ก็ได้” ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นคำถามจากคนที่ไม่เข้าใจ แต่ดันพูดเยอะในวันที่เธอเปราะบางที่สุด ซึ่งไม่ต่างอะไรกับมีดที่ทิ่มแทงเธอซ้ำแล้วซ้ำอีก เธอร้องไห้ทุกคืนและตกอยู่ในภาวะนอนไม่หลับอยู่หลายสัปดาห์ จนต้องโทรมาระบายกับหมอ

“นั่นเป็นเคสแรกๆ ที่หมอเขียนเป็นบทความลงในเพจ แสงเทียนในโลกสีเทา ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแบ่งปันเรื่องราวและส่งต่อกำลังใจ รวมถึงสร้างความเข้าใจเรื่อง Palliative Care หวังลึกๆ ว่าจะส่งเสียงไปถึงคนที่ไม่เข้าใจและไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คำพูดของตัวเองกำลังไปทำร้ายคนอื่นอยู่” 

พินัยกรรม…ทำเพื่อใคร

“แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปีกว่าที่เข้ามารับหน้าที่ดูแลเรื่อง Palliative Care ให้กับทางโรงพยาบาล แต่ด้วยจำนวนเคสที่ต้องดูแลกว่า 20 เคสต่อเดือน ยอมรับว่าเป็นงานที่หนักและเหนื่อยพอสมควร หลายเคสต้องดูแลกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ดูแลแค่คนไข้ แต่บางเคสต้องดูแลไปถึงคนในครอบครัว ซึ่งสมุดเบาใจก็นับเป็นเครื่องมือที่ช่วยเราได้เยอะ โดยเฉพาะกับคนไข้และญาติที่พูดคุยกันจนเข้าใจ และคิดว่าเขาน่าจะตกตะกอนได้ระดับหนึ่งแล้ว หมอก็จะมอบสมุดเบาใจให้เขากลับบ้านไป

“บางคนก็ถามหมอว่า ต้องเอากลับมาส่งหมอไหม? หมอก็จะตอบว่า ไม่ต้อง เพราะนี่เป็นการบ้านของชีวิตคุณ ฉะนั้น จะเขียนหรือไม่ จะเขียนเมื่อไร ขึ้นอยู่กับคุณได้เลย หรือบางคนไม่รู้จะเขียนให้ใคร ซึ่งหมออยากจะบอกว่า ไม่ว่าจะเป็น Living will หรือ Advance Directive หรือ Advance Care Planning รวมถึงสมุดเบาใจ เราทำขึ้นไม่ใช่เพราะเราป่วยหรือเรากำลังจะเสียชีวิต แต่เราทำเพราะเรายังมีครอบครัวและคนที่อยู่ข้างหลังต่างหาก ในวันที่เราอาจจะไม่รู้สึกตัวหรือไม่สามารถตัดสินใจเองได้แล้ว ข้อความต่างๆ ที่เราเขียนไว้จะช่วยให้คนข้างหลังรู้ว่า เราต้องการอะไร โดยที่พวกเขาไม่ต้องมาคิด กังวล หรือตัดสินใจแทนเรา และไม่ต้องมานั่งทุกข์จากความเห็นต่าง คำถาม หรือความไม่เข้าใจของคนรอบข้าง”

อาม่ากับสมุดเบาใจ

“เคสหนึ่งที่หมอประทับใจมากที่สุดในการใช้สมุดเบาใจก็คือเคสของผู้ป่วยมะเร็งตับวัยใกล้ 90 ปี ซึ่งมีศักดิ์เป็น ‘อาม่า’ ของอาจารย์หมอที่เราเคารพ โดยท่านมีความประสงค์อยากให้อาม่าได้รับการรักษาแบบประคับประคอง จึงอยากวานให้หมอช่วยคุยกับอาม่าและครอบครัวให้

“จำได้ว่า ครั้งแรกที่ได้คุยกับอาม่านั้น เรารู้เลยว่าผู้หญิงคนนี้เข้มแข็งมาก และตลอดชีวิตที่ผ่านมาท่านก็ตัดสินใจทุกเรื่องในชีวิตด้วยตัวเอง กระทั่งมาถึงเรื่องการรักษาแบบประคับประคอง ท่านก็เป็นคนตัดสินใจเอง วันนั้นหมอมอบสมุดเบาใจให้ท่าน และปรากฏว่าหลังจากกลับไปวันนั้น อาม่าก็ลงมือเขียนสมุดเบาใจตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายอย่างละเอียด ชัดเจน วางแผนไว้ทุกอย่าง ตั้งแต่การรักษาว่า อนุญาตให้รักษาถึงจุดไหน งบการรักษาเท่าไร และเมื่อถึงจุดวิกฤต ก็ปฏิเสธที่จะใส่ท่อและปั๊มหัวใจ รวมถึงขอสิ้นลมหายใจที่โรงพยาบาล ฯลฯ

“อาม่าจัดการเรื่องทรัพย์สินว่า อากงดูแลอะไร และลูกๆ แต่ละคนดูแลอะไร วางแผนไปจนถึงงานศพว่า ให้จัดงานศพที่วัดไหน จัดกี่วัน ใช้เงินก้อนไหนในการจัดการงานศพ และใช้ยาหม่องน้ำเป็นของที่ระลึกในงาน รวมถึงยังระบุชัดเจนว่า ห้ามนำพวงหรีดดอกไม้มาตกแต่งเพื่อลดขยะให้โลก และให้ใช้ต้นไม้ตกแต่งแทน โดยหลังเสร็จสิ้นงานศพ ให้ครอบครัวนำต้นไม้เหล่านั้นถวายให้วัดเพื่อนำไปปลูก คืนลมหายใจให้โลก แต่หากวัดไม่ต้องการก็นำกลับมาดูแลต่อที่บ้าน

“หลังอาม่าจากไป ทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของอาม่า จำได้ว่าหมอเองก็ไปร่วมงานฌาปนกิจศพของอาม่าด้วย นอกจากยาหม่องน้ำที่อาม่าตั้งใจให้เป็นของชำร่วยในงานแล้ว ก็ยังมีการแจกสมุดเบาใจให้กับแขกที่มาร่วมงาน ทุกอย่างถูกคิดและวางแผนมาเป็นอย่างดี งานนั้นจึงเป็นงานที่เหมือนทุกคนมาร่วมส่งและบอกลาอาม่าจริงๆ

“หลังจากงานศพผ่านไป หมอได้กลับไปเยี่ยมครอบครัวอาม่าอีกครั้ง วันนั้นสิ่งที่ทำให้เราตื้นตันไม่รู้ลืมก็คือภาพของอากงที่กำลังรดน้ำต้นไม้จากงานศพของอาม่าด้วยรอยยิ้ม นี่เป็นเคสตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นถึงการเดินทางไกลที่ผ่านการวางแผนมาเป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายที่ยังมีคนไข้มาถึงจุดเดียวกับอาม่า…น้อยมาก

ต้องการอ่านแบบ eFile

Download PDF

เรื่องเล่าสมุดเบาใจอื่นๆ

Message us