เมธาวจี สาระคุณ (มินนี่)
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
วันที่สัมภาษณ์: 13 ธันวาคม 2566
วันที่เผยแพร่: 15 มีนาคม 2567
ถ้าโชคดีพอ ในช่วงสุดท้ายของชีวิต…
มินอาจจะเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ยังพอมีเวลาเหลือ
จะออกแบบและจัดงานศพของตัวเองขึ้นในขณะที่ยังมีชีวิต
เพื่อบอกลาและสบตากับคนที่เรารักและรักเรา
ได้มอบของบางสิ่งให้กับคนที่มางาน
และหลังจากงานสิ้นสุดลง จะไม่ขอรักษาอะไรทั้งสิ้น
แต่ขอจากไปอย่างสงบ ภายใต้การดูแลแบบประคับประคอง
ส่วนร่างก็นำเข้าเตาเผาโดยไม่ต้องมีพิธีอะไรมากกว่านั้น
ภาพสุดท้ายของชีวิตที่คิดไว้ของ เมธาวจี สาระคุณ (มินนี่) ซีอีโอคนเก่งแห่ง Inside the Sandbox บริษัทเอเจนซีที่มุ่งเน้นการสื่อสาร ถ่ายทอด และสะท้อนประเด็นต่างๆ เพื่อสังคม เจ้าของโปรเจกต์ Deadline Always Exists แบบจำลองเดดไลน์ที่เคยชวนผู้คนมากมายย้อนสนทนากับตัวเองสั้นๆ ในเวลา 5 นาที เพื่อค้นหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร
“หลายครั้งเราใช้ชีวิตอย่างไม่มีจุดหมาย เราใช้ชีวิตเหมือนว่าจะมีวันพรุ่งนี้อยู่เรื่อยๆ ทั้งที่จริงแล้วความตายนั้นเป็นแพ็กเกจเดียวกับคำว่าชีวิต ทุกคนต่างมีเดดไลน์ แต่หลีกเลี่ยงที่จะยอมรับว่าเดดไลน์นั้นมีอยู่จริง ซึ่งหากเรามีชีวิตแบบไม่จำกัด เราอาจจะใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างไรก็ได้ แต่พอมี ‘ความตาย’ หรือเดดไลน์เข้ามากำหนด มันกลายเป็นโจทย์แล้วว่า ในเวลาที่มีอยู่จำกัดนี้เราจะใช้ชีวิตอย่างไร ซึ่งการได้นั่งสบตากับความตายและระลึกถึงความตายอย่างถ่องแท้ จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า สุดท้ายแล้วเราทุกคนควรยอมรับว่า ชีวิตของเรานั้นมีค่าและควรถูกใช้ในแบบที่เราคิดมาแล้ว
“นี่เองที่ Deadline Always Exists พยายามชวนคุยเรื่องความตายมาเรื่อยๆ จนหลายคนอาจจะมองว่าเราทำงานเกี่ยวกับความตาย ซึ่งไม่ใช่! เราเพียงแต่พูดถึงความตายในฐานะ Fact หนึ่งของชีวิต เพื่อสื่อสารให้ทุกคนรู้ว่า ปัจจุบันสำคัญแค่ไหน เพราะเราอยากให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างที่ ‘ตัวเองเลือก’ จริงๆ โดยปราศจากการถูกตีกรอบด้วยความต้องการของสังคมหรือความคาดหวังของคนที่เรารัก”
ตั้งคำถามกับชีวิต
ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มินนี่เคยทำงานในฐานะนักวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planner) ของบริษัทเอเจนซีโฆษณาแห่งหนึ่ง ก่อนจะเกิดคำถามขึ้นกับตัวเองว่า ‘ยังมีอะไรอีกไหมที่ฉันทำได้ นอกพาร์ทิชันในตึกสูงกลางสาธรที่กำลังนั่งทำงานอยู่ทุกวันนี้’ และนั่นกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำและรวมกลุ่มกับผองเพื่อนทำโปรเจกต์ Deadline Always Exists พร้อมๆ กับเริ่มต้นบทบาทซีอีโอในวัยเพียง 23 ปี
“อาจจะดูเห็นแก่ตัว แต่เป้าหมายแรกในการทำโปรเจกต์ Deadline Always Exists ก็คือมินอยากหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า ชีวิตคืออะไรกันแน่และเราต้องใช้ชีวิตอย่างไร ซึ่งพองาน Deadline Always Exists จบลง เราคิดว่าตัวเองได้ตกตะกอนและพบคำตอบที่ต้องการแล้ว แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะเมื่อเวลาผ่านไป เราเติบโตขึ้นมาในระดับหนึ่ง เรากลับพบว่าคำถามนี้ไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว แต่คำตอบจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
“ที่ผ่านมา Deadline Always Exists จึงตั้งคำถามมาเรื่อยๆ และงานทั้งหมดของเราจะเกี่ยวกับการตั้งคำถาม เพราะเราเชื่ออย่างหนึ่งว่า เราจะไม่มีทาง ‘รู้’ ถ้าเราไม่เริ่มต้นด้วย ‘การตั้งคำถาม’ ก็เหมือนกับสมุดเบาใจ ซึ่งมินมองว่าเป็นอีกเครื่องมือที่ดีที่ช่วยให้เราเริ่มต้นตั้งคำถามหลายๆ อย่างกับชีวิต
“ในขณะที่คนยุคนี้ไม่ค่อยตั้งคำถามกับตัวเอง แค่คำถามง่ายๆ อย่างตอนนี้เราทำอะไรอยู่ ก็เป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่แทบจะไม่เคยถามตัวเองเลย ชีวิตจึงวนอยู่กับเช้าตื่นมา ออกจากบ้าน ทำงาน เย็นกลับเข้าบ้าน ณ จุดหนึ่งที่ชีวิตวนไปเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มลืมไปเลยว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ นั่นทำให้ Deadline Always Exists มักจะถามคนอื่นเสมอว่า คุณกำลังทำอะไรอยู่เหรอ…”
เบาใจในวันที่พ่อป่วย
“มินมีโอกาสรู้จักสมุดเบาใจเมื่อราว 6 ปีที่แล้ว สมัยที่ยังเป็นเด็กฝึกงานอยู่ที่ชูใจและกัลยาณมิตร ตอนนั้นเรามองสมุดเบาใจเป็นเหมือน Living will ในการออกแบบความตายให้กับตัวเอง ซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวจึงไม่ได้สนใจอะไรมากมาย อีกทั้งคนรอบตัวก็ยังแข็งแรงดี และแม้เวลาจะผ่านมาจนเริ่มทำ Deadline Always Exists แล้ว แต่มินก็ยังรู้สึกว่าตัวเองก็ยังไม่เกี่ยวข้องกับสมุดเบาใจอยู่ดี จนกระทั่งคุณพ่อเริ่มป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้ายและเข้าสู่กระบวนการรักษาหลายๆ รูปแบบ จนสุดท้ายท่านก็ตัดสินใจหยุดรักษาด้วยตัวเอง ด้วยเหตุผลว่ามันทรมานเกินไป
“จากนั้นคุณพ่อก็ออกเที่ยว จากที่เคยเป็นคนดูแลสุขภาพก็หันมาสูบบุหรี่ กินเหล้า กินอาหารไม่เลือก ซึ่งยอมรับว่าในฐานะของลูก เราช็อกมาก จัดการตัวเองไม่ถูกอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะเราอยากให้ท่านอยู่กับเรานานๆ เราจึงไม่เห็นด้วยที่ท่านหยุดการรักษา แต่สุดท้ายเราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของพ่อ และยอมรับว่านั่นเป็นสิทธิ์ของท่าน
“ตอนนั้นเราหันมาสนใจเรื่อง Palliative Care และหาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งทำให้เราค่อยๆ เข้าใจพ่อ และมีความคิดว่าหากเป็นตัวเองก็คงทำแบบเดียวกัน เพราะโดยส่วนตัวก็ไม่ชอบการไปโรงพยาบาลและเกลียดความเจ็บปวดทุกรูปแบบ นั่นเองที่เราเริ่มมีความรู้สึกว่า บางทีการไม่รักษาก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ชีวิตเหมือนกัน
“สำคัญกว่านั้น หากย้อนมองกลับไป พ่อก็ทำหน้าที่พ่ออย่างเต็มที่มาตลอดชีวิต เสียสละอะไรมามากมายเพื่อลูกๆ แล้วหากจะต้องมาเสียสละการตายซึ่งมีเพียงครั้งเดียวเพื่อเราอีก มันใช่เหรอ? นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มินหยิบสมุดเบาใจขึ้นมาอ่านและลงมือเขียนเป็นครั้งแรก”
เติบโตเพื่อเตรียมตัว
“จำได้ว่าตอนที่ทำ Deadline Always Exists เราเคยคิดถึงการออกแบบงานศพของตัวเอง แต่เราไม่เคยมองในมุมของการรักษาว่า เมื่อใกล้ตาย เราอยากได้รับการดูแลรักษาแบบไหน ด้วยความที่ตอนนั้นมินมองว่าความตายเป็นเรื่องของส่วนบุคคล จนกระทั่งได้มาทำนิทรรศการเชิงประสบการณ์ ‘30 Secs Before Death’ เรากลับมองว่าความตายไม่ใช่เรื่องปัจเจกอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องของทุกคน
“ถ้าใครคนใดคนหนึ่งต้องตายก็เหมือนว่าเขาได้ช่วงชิงลมหายใจเสี้ยวหนึ่งของคนอื่นไปด้วย เพราะโมเมนต์ที่พอเรารู้ว่าใครสักคนที่รู้จักตายจากไป มักเป็นโมเมนต์ที่เราหยุดหายใจไปชั่วขณะหนึ่ง ก่อนจะเกิดความรู้สึกว่า อะไรสักอย่างในชีวิตของเรากำลังหายไป งานชิ้นนี้เป็นเหมือนหลักฐานการเติบโตขึ้นอีกระดับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง สะท้อนการเติบโตขึ้นทางความคิดของเราว่า ความตายไม่ใช่เรื่องของคนเพียงคนเดียว แต่ความตายเป็นเรื่องของทุกคนที่อยู่รายล้อมรอบตัวเรา”
บทสนทนาความตาย
“เป็นเรื่องที่พูดยากเหมือนกันว่า เราควรหรือไม่ควรคุยเรื่องความตายกันในขณะที่มีชีวิตอยู่ หากเรามองว่า ในวันที่เราตาย เราไม่รับรู้อะไรแล้ว และเราไม่แคร์ว่าจะถูกดูแลรักษาอย่างไร ยกหน้าที่นี้ให้ลูกหลานตัดสินใจไปเลย การคุยเรื่องความตายกับคนในครอบครัวก็อาจจะไม่จำเป็น…ก็ได้
“แต่ถ้าอยากเตรียมความพร้อมว่า คุณต้องการได้รับการดูแลแบบไหนในช่วงสุดท้ายของชีวิต และอยากให้คนที่ยังอยู่รู้ว่า จะรับมือกับความตายหรือการจากไปของเราอย่างไร ความตายก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องคุยกัน เพราะหลายๆ ครั้งที่มินทำงานกับวัยรุ่น สิ่งหนึ่งที่เราประสบก็คือพ่อแม่สอนเราทุกอย่าง แต่ท่านไม่เคยสอนเราว่า ในวันที่ท่านไม่อยู่แล้ว เราต้องทำอย่างไร นั่นทำให้หลังพ่อแม่เสียชีวิตกะทันหัน ลูกๆ ทั้งหลายจะมีอาการไม่เป็น ไม่รู้ แค่เรื่องง่ายๆ อย่างการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ยังไม่รู้ว่าจะไปจ่ายที่ไหน หรือแม่เก็บเอกสารสูติบัตรเราไว้ที่ไหน หรือรหัสบัตรต่างๆ รายการหนี้สิน ทรัพย์สิน หรือเงินในบัญชี ไม่รู้เลย สิ่งเหล่านี้ทำให้เราจำเป็นต้องคุยกันเรื่องความตาย เพื่ออย่างน้อยคนที่อยู่ข้างหลังจะได้รู้ว่าจะต้องจัดการกันอย่างไร
“สมุดเบาใจเป็นเครื่องมือที่ดีในการวางแผนล่วงหน้า แต่สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะต้องเตรียมใจรับไว้เลยก็คือ ในเชิงกฎหมายไทย เราต้องยอมรับว่า เรื่องของ Living will ไม่ได้แข็งแรงมาก จึงมีโอกาสที่ญาติ คนรัก ครอบครัว หรือแม้กระทั่งแพทย์เองอาจจะไม่ทำตาม Living will ที่เราเขียนก็ได้ ดังนั้นมินจึงอยากให้ทุกคนมองสมุดเบาใจเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราจัดระบบความคิดและเริ่มต้นใช้ชีวิตแล้วกัน อย่ามองไปถึงขั้นที่ว่า หากเราเขียนสมุดเบาใจแล้ว เราจะไม่พบกับความเจ็บปวดหรือขัดใจใดๆ เลย”
ทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องเลือก
“วันนั้นมินใช้เวลาแค่ 10 นาที ในการเขียนสมุดเบาใจตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย อาจจะเป็นเพราะเราผ่านอะไรมาหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์ Deadline Always Exists, การทำบริษัท, พ่อป่วย, การได้คุยกับเพื่อนๆ ที่เป็นหมอ ฯลฯ ทุกอย่างทำให้สมุดเบาใจเขียนง่ายขึ้น แต่สุดท้ายการเขียนสมุดเบาใจจะยากหรือง่ายนั้นก็ขึ้นอยู่กับเรามองว่า ชีวิตคืออะไร
“การเขียนสมุดเบาใจจะไม่ยากเลย ถ้าเราตอบตัวเองได้ว่า เรามองชีวิตเป็นแบบไหน ชีวิตเรามีใครสำคัญบ้าง คนสำคัญเหล่านั้นจะอยู่อย่างไรเมื่อเราจากไป และบางทีสมุดเบาใจอาจจะไม่จำเป็นเลยก็ได้ หากเราได้คุยหรือบอกกับคนที่เราไว้ใจทั้งหมดแล้ว
“จำได้ว่าวันที่มินหยิบสมุดเบาใจขึ้นมาครั้งแรก มินรู้สึกเลยว่า วันนั้นสมุดเบาใจไม่จำเป็นสำหรับพ่อแล้ว เพราะท่านตัดสินใจและจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองได้อย่างดี แต่คนที่ต้องการสมุดเบาใจมากที่สุดในวันนั้นก็คือมินเอง ตอนนั้นเราใช้สมุดเบาใจเป็นไกด์ไลน์ในการทำความเข้าใจว่า เมื่อใกล้ตาย เราต้องมองอะไรบ้าง
“สิ่งที่มินชอบมากที่สุดในสมุดเบาใจก็คือการใส่ชื่อของผู้แทนการตัดสินใจ เมื่อเราเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิตและสื่อสารความต้องการไม่ได้ เราจะให้ใครเป็นคนตัดสินใจแทน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มินไม่เคยคิดถึงมาก่อน และเรามองว่าสิ่งนี้จะช่วยลดความขัดแย้งในครอบครัวได้ หากเกิดความเห็นที่แตกต่างกันในสถานการณ์ที่ต้องเลือก เช่น จะเลือกรักษาเราต่อหรือหยุดการรักษาในวันที่เราตัดสินใจเองไม่ได้แล้ว”
เมื่อความตายมาถึง…
เพราะความตายเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้น สมุดเบาใจนับเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับคนที่ไม่รู้จะเริ่มต้นเตรียมตัวหรือวางแผนอย่างไร เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ต้องรู้อะไรมากก็ได้ เพราะเมื่อเราถูกตั้งคำถาม เดี๋ยวมันจะนำไปสู่การ ‘รู้’ เอง ดังนั้น เราไปรู้ก่อนว่า คำถามคืออะไร จะได้รู้ว่าเราจะทำอะไรต่อไป… และถ้าวันนี้เรายังไม่พร้อมหรือยังตอบคำถามในสมุดเบาใจไม่ได้ เราก็อาจจะเริ่มต้นด้วยการตอบคำถามง่ายๆ ก่อนว่า วันนี้เรากำลังทำอะไรอยู่…
ต้องการอ่านแบบ eFile